บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน(00012006) กลุ่มเรียนที่ 20 วันศุกร์เวลา 13.30 - 15.30 น. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

การผสมเทียมโค

ประวัติการผสมเทียมในประเทศไทย

การผสมเทียมในประเทศไทยเริ่มขึ้นโดย ในปี พ.ศ.2496 ศาสตรจารย์นีลล์ ลาเกอร์ ลอฟ ชาวสวีเดน ผู้เชี่ยวชาญองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้เดินทางมาสำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศไทยได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเพื่อทูลเก้าฯถวายโครงการผลิตโคนมลูกผสมด้วยวิธีการผสมเทียมในประเทศไทยเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมได้เองภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2497 กรมปศุสัตว์ได้ส่งนายสัตวแพทย์ทศพร สุทธิคำ และนายสัตวแพทย์อุทัย สาลิคุปต์ ไปศึกษาอบรมนานาชาติ ณ ราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับรัฐบาลสวีเดน ได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมวิชาการสืบพันธุ์และการผสมเทียมขึ้นเป็นรุ่นแรกเมื่อจบการศึกษากลับประเทศไทยได้เริ่มต้นก่อตั้งสถานีผสมเทียม เพื่อให้บริการผสมเทียมแก่ปศุสัตว์ของเกษตรกร และถ่ายทอดความรู้ด้านการผสมเทียมแก่นักวิชาการของกรมปศุสัตว์ ในปี พ.ศ.2499 กรมปศุสัตว์ได้เปิดสถานีผสมเทียมแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่วันที่ 9 กันยายนพ.ศ.2499 นายสัตวแพทย์ทศพร ได้ผสมเทียมให้แม่โคตัวแรก แม่โคตั้งท้องคลอดลูกเป็นลูกโคเพศเมีย ดังนั้นจึงถือว่าวันที่ 9 กันยายนของทุกๆ ปี เป็นวันกำเนิดงานผสมเทียมของประเทศไทย

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จัดตั้งในปีพ.ศ.2503 โดยสมาคมเกษตรกรประเทศเดนมาร์กและรัฐบาลเดนมาร์กร่วมน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ มีพิธีเปิดเป็นทางการในปี พ.ศ.2505 ต่อมารัฐบาลไทยรับโอนกิจการฟาร์มโคนมจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในปี พ.ศ.2514 มีกิจกรรมด้านส่งเสริมการเลี้ยงโคนม รวมถึงการให้บริการผสมเทียม การผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนม และการพิสูจน์พ่อพันธุ์โคนม

สำนักงานทหารพัฒนากองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการทหารสูงสุด(กรป.กลาง)ได้ปฏิบัติงานพัฒนาชนบทและปี พ.ศ.2511 จัดทำโครงการส่งเสริมขยายพันธุ์สัตว์ให้บริการผสมเทียมโคเนื้อและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อ

ในประเทศไทยได้ใช้เทคนิคการผสมเทียมในการขยายพันธุ์โคมานานเกือบ 50 ปี โดยกรมปศุสัตว์ได้นำเข้าน้ำเชื้อแช่แข็งจากต่างประเทศมาโดยตลอดโดยนำเข้าจากประเทศต่างๆ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น เป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้บริการผสมเทียมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคนม โคเนื้อในประเทศต่อมากรมปศุสัตว์ได้เริ่มเลี้ยงพ่อพันธุ์โคเพื่อการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งออกบริการเอง โดยได้นำเข้าพ่อพันธุ์โคจากต่างประเทศมารีดน้ำเชื้อและคัดเลือกพ่อพันธุ์โคที่เกิดในประเทศที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อพัฒนาสายพันธุ์มาผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งใช้ในประเทศไทย ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ผลิตน้ำเชื้อโคในประเทศไทยคือ กรมปศุสัตว์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนม โคเนื้อ และปศุสัตว์ชนิดอื่นๆ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนม กรป.กลาง (สำนักงานทหารพัฒนา กองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ) ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคเนื้อ นอกจากนี้สถาบันการศึกษาและฟาร์มเอกชนหลายแห่งได้ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งใช้เองและให้บริการเกษตรกรอยู่บ้างอย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญในประเทศไทยคือระบบข้อมูลเพื่อการจัดการฟาร์มและการปรับปรุงพันธุ์มีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงมากและใช้ระยะเวลานานในประเทศไทยหน่วยงานกรมปศุสัตว์ และ อ.ส.ค. ได้มีการทำงานด้านระบบฐานข้อมูลโคนม และได้นำผลวิเคราะห์ค่าการผสมพันธุ์ (Breeding index; BI) ออกเผยแพร่เพื่อให้เกษตรกรใช้ประกอบการเลือกใช้พ่อพันธุ์โคนมและโคเนื้อ

ข้อดีของการผสมเทียม (Advantages of artificial insemination)

การปรับเปลี่ยนจากการผสมจริงของโคในธรรมชาติมาใช้เทคโนโลยีการผสมเทียมในโคต่อเกษตรกรนั้นมีข้อจำกัดคือ การต้องมีการตรวจการเป็นสัดที่ดี และมีระบบการจัดการภายในฟาร์มที่ดีจึงจะทำให้การผสมเทียมประสบความสำเร็จอย่างไรก็ตามประโยชน์ที่ได้รับจากใช้การผสมเทียมในโคมีอยู่มากคือ

  • การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ที่ดีได้รวดเร็วในเวลาสั้น (Genetic gain) ประโยชน์ข้อนี้นับเป็นข้อดีที่สำคัญที่สุดของการผสมเทียม นอกจากนี้เทคนิคนี้ทำให้สามารถควบคุมโรคทางระบบการสืบพันธุ์ได้ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการใช้ผสมเทียมแทนการผสมตามธรรมชาติการที่จะใช้เทคนิคการผสมเทียมเพื่อกระจายพันธุ์ดี เกษตรกรจะเลือกใช้พ่อพันธุ์ที่มีข้อมูลการประเมินคุณภาพการถ่ายทอดพันธุกรรม ที่ประเมินจากฝูงโคขนาดใหญ่ในประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำการพิสูจน์พ่อพันธุ์ (การจัดเก็บข้อมูลผลผลิตลูกสาวจากพ่อตัวนั้นการประมวลวิเคราะห์ผลด้วยโปรแกรมเฉพาะ การคัดเลือกเพื่อปรับปรุงพันธุ์) ค่อนข้างสูงมากและใช้เวลานานเพราะต้องติดตามข้อมูลผลผลิตอย่างน้อยหนึ่งระยะให้นมของลูกสาว ดังนั้นประเทศที่มีการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งใช้จะต้องมีระบบข้อมูลที่ดีและมีระบบการประเมินคุณภาพพ่อพันธุ์หรือค่าการผสมพันธุ์โคทุกตัว ที่ใช้น้ำเชื้อบริการอยู่เป็นประจำ (ประเมินปีละ 1 – 2 ครั้ง) ในประเทศไทยกรมปศุสัตว์ และ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งและประเมินค่าการผสมพันธุ์โคนมในประเทศไทยส่วนโคเนื้อกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักที่ติดตามประเมินค่าการผสมพันธุ์โคเนื้อ
  • การใช้จ่ายเพื่อการผสมพันธุ์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Cost effectiveness) แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์ของการผสมเทียมโดยเฉพาะในด้านศักยภาพการถ่ายทอดพันธุกรรมหรือผสมเทียมเพื่อปรับปรุงพันธุ์ได้ดีขึ้น แต่ประโยชน์ที่เจ้าของฟาร์มคำนึงถึงการนำเอาการผสมเทียมมาใช้แทนการผสมตามธรรมชาติที่สำคัญคือการลดค่าใช้จ่ายการลดต้นทุนการผลิต ด้วยข้อดีน้ำทำให้การผสมเทียมในโคได้รับการยอมรับและแพร่หลายใช้ทั่วโลก การซื้อพ่อโคพันธุ์ดีมาเลี้ยงเพื่อใช้ผสมจริงมีข้อเสียมากทั้งค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูค่าพันธุ์หรือค่าตัวพ่อโค การควบคุมโรคทางการสืบพันธุ์ในฝูงพันธุกรรมของลูกที่เกิดที่ไม่ชัดเจนว่าพ่อที่ผสมเป็นตัวใดกรณีที่มีพ่อหลายตัวปล่อยคุมฝูง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของพ่อโคต่อจำนวนแม่โคในฝูง จะต้องมีการเฝ้าระวังโดยตรวจสอบอัตราการผสมติดอย่างไรก็ตามปัญหาพ่อโคที่ไม่สมบูรณ์พันธุ์หรือมีปัญหาการผสม (infertile or subfertile) มักทราบหลังจากใช้คุมฝูงไปนานหลายเดือนแล้ว ซึ่งจะนำความสูญเสียต่อผลผลิตของฟาร์มในปีนั้นๆ การตรวจพ่อพันธุ์ที่มีปัญหาทั้งระบบสืบพันธุ์และคุณภาพน้ำเชื้อสามารถทำได้ แต่เจ้าของฟาร์มต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บพ่อโคที่ใช้งานไม่ได้ ซึ่งค่าตัวพ่อโคพันธุ์ดีแต่ละตัวสูงมาก ทำให้เมื่อประเมินความคุ้มทุนเทียบกับการซื้อน้ำเชื้อแช่แข็งที่ผ่านการพิสูจน์พันธุ์แล้ว (มี breeding index และการตรวจรับรองการปลอดโรคที่กำหนด) จะคุ้มทุนมากกว่าน้ำนมและองค์ประกอบดีแล้วแต่มีลักษณะเต้านมไม่สวย เกษตรกรอาจเลือกใช้พ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดลักษณะเต้านมที่แข็งแรงมาผสมแม่ตัวนี้ เพื่อให้ได้ลูกสาวที่คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำนมดีและโครงสร้างเต้านมแข็งแรง ไม่หย่อนยานเมื่ออายุมาก เพราะลักษณะดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์ต่อการเป็นโรคเต้านมอักเสบและแม่โคมีโอกาสเหยียบหัวนมตัวเองมากขึ้นหรือเกษตรกรอาจต้องการพ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดลักษณะขาที่แข็งแรงหรือพ่อโคที่ถ่ายทอดการให้น้ำนมที่มีไขมันสูงตามเกณฑ์มาตรฐานราคาน้ำนมดิบในประเทศนั้น ด้วยความต้องการที่หลากหลายเพื่อปรับปรุงลักษณะที่ต้องการในลูกรุ่งต่อๆ ไป ทำให้การเลือกใช้น้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อพันธุ์ที่พิสูจน์แล้วหลายๆ ตัวมีความสะดวกมากกว่าการซื้อพ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดลักษณะที่ต้องการในจำนวนจำกัดมาเลี้ยงไว้เพื่อผสมพันธุ์ในฟาร์ม

ข้อเสียของการผสมเทียม (Disadvantages of artificial insemination)
เทคโนโลยีการสืบพันธุ์โดยใช้เทคนิคการผสมเทียมมีคุณประโยชน์มากมายแต่ก็มีข้อเสียที่ควรตระหนักและต้องระมัดระวังเสมอสำหรับผู้ใช้คือ

  • ขบวนการการรีดน้ำเชื้อ การผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง และเทนนิคการผสมเทียม ไม่ว่าจะเป็นการรีดเก็บน้ำเชื้อ การตรวจคุณภาพการแช่แข็ง การเก็บรักษา การจัดส่งน้ำเชื้อแช่แข็ง และการผสมเทียมต้องทำอย่างถูกต้องระมัดระวัง นอกจากนี้ต้องมั่นใจว่า โรคทางการสืบพันธุ์ เช่นโรคแท้งติดต่อ โรคทริโคโมนิเอซิส โรคแคมไพโรแบคเทอริโอซิส และโรคอื่นๆ จะไม่แพร่โดยน้ำเชื้อจากพ่อโคที่เป็นโรค หรือติดต่อจากอุปกรณ์ผสมเทียมที่นำเชื้อโรคจากแม่โคที่เป็นโรคไปยังโคตัวอื่นๆสถานีพ่อพันธุ์จะต้องปลอดโรคเหล่านี้ (โรคที่ถ่ายทอดทางการสืบพันธุ์และถ่ายทอดผ่านทางน้ำเชื้อแช่แข็งได้) หากน้ำเชื้อถูกเก็บรักษาหรือมีขบวนการแช่แข็งที่ไม่เหมาะสมแล้ว จะมีผลให้คุณภาพน้ำเชื้อต่ำ ส่งผลให้อัตราการผสมเทียมติดต่ำ นอกจากปัจจัยการตรวจการเป็ดสัดที่ถูกต้องแล้ว การผสมเทียมในเวลาเหมาะสมเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่ออัตราการผสมติดการลงบันทึกข้อมูลการผสมพันธุ์ที่สมบูรณ์ถูกต้องจะต้องทำเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพการผสมเทียม ผู้ทำการผสมเทียม (inseminators) หากทำการผสมเทียมโดยไม่สะอาดไม่ระมัดระวังแล้วจะเป็นทางแพร่โรคจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกฟาร์มหนึ่งได้ หรือเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ระบบสืบพันธุ์แม่โคได้
  • โรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ การผสมเทียมเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้มีการขยายพันธุ์ที่ดีได้รวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นในทำนองเดียวกันการผสมเทียมเป็นทางแพร่พันธุกรรมที่มีความผิดปกติได้หากไม่ตรวจพบได้ก่อนการนำน้ำเชื้อออกบริการโรคที่มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ เช่น ลักษณะโคที่ไม่ดี (poor conformation) โดยเฉพาะขาไม่แข็งแรง โรคปัญหาของสันหลัง (spastic syndrome) การมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ การไม่มีความต้องการผสมพันธุ์หรือไม่มีกำหนัด (lack of libido) โรคถุงน้ำในรังไข่ (cystic ovaries) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าโรคเต้านมอักเสบสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้เช่นกันโรคที่แฝงมากับยีนด้อยที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาทำการตรวจพ่อพันธุ์ทุกตัวก่อนการนำน้ำเชื้อไปใช้ มีการตรวจหลายโรค เช่น โรคแบลด (bovine leukocyte adhesion deficiency: BLAD) หากพ่อโคปลอดโรคนี้จะมีรหัส *TL ที่ข้อมูลพิสูจน์ประจำตัวพ่อพันธุ์(breeding index) โรคดัมปส์ (deficiency of uridine monophosphate syntheses: DUMPS) หากพ่อโคปลอดโรคนี้จะมีรหัส *TD ที่ข้อมูลพิสูจน์ประจำตัวพ่อพันธุ์ โรคมูลฟุต (mule-foot หรือ syndcyylism; MF) หากพ่อโคปลอดโรคนี้จะมีรหัส *TM ที่ข้อมูลพิสูจน์ประจำตัวพ่อพันธุ์ ยังมีปัญหาจากยีนด้อยแอบแฝงอื่นๆ อีกหลายโรคที่ผู้สั่งซื้อน้ำเชื้อแช่แข็งจากต่างประเทศต้องศึกษา เพื่อการเลือกใช้พ่อที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ไม่เป็นตัวกระจายโรคและปัญหาแอบแฝงต่างๆ นอกจากนี้ในประเทศที่มีระบบข้อมูลประเมินค่าการผสมพันธุ์ของพ่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ (sire evaluation) จะมีการประเมินการถ่ายทอดลักษณะรูปร่าง (type traits) เช่น ลักษณะเต้านม ขา เท้า การให้ผลผลิตน้ำนมและองค์ประกอบหลักของน้ำนม (production traits) เช่น ปริมาณโปรตีนและไขมันในน้ำนม หน่วยงานที่ผลิตน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคเพื่อจำหน่ายจะต้องมีการตรวจรับรองการปลอดโรค และค่าการถ่ายทอดพันธุกรรมของพ่อโคเหล่านี้ เช่น น้ำเชื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรปบางประเทศ จะระบุผลตรวจโรคทางพันธุกรรม ในข้อมูลค่าการผสมพันธุ์ประจำตัวพ่อพันธุ์ (breeding index)
  • ผลเสียและข้อจำกัดอื่นๆ หากทำการผสมเทียมในสัตว์ตั้งท้องจะมีผลทำให้แท้งลูกได้ ดังนั้นผู้ผสมเทียมต้องตรวจระบบสืบพันธุ์และประวัติการผสมให้ถูกต้องก่อนการผสมเทียมทุกครั้งการบริการผสมเทียมจากองค์กรของรัฐอาจทำได้ไม่ตรงเวลาและไม่ทำงานทุกวันทำให้โคอาจไม่ได้รับการผสมเทียมในวันและเวลาที่เหมาะสม เกษตรกรบางฟาร์มทำการผสมเทียมเองโดยได้รับการฝึกอบรมจากกรมปศุสัตว์และสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยให้ทำการผสมเทียมได้ถูกต้องและตรงเวลาที่เหมาะสมกับการเป็นสัดได้ดีขึ้นอกจากนี้ความเสี่ยงของการใช้พ่อพันธุ์ตัวเดียวผสมในฝูงคือจะเป็นตัวนำความผิดปกติที่ตรวจไม่พบเมื่อเป็นโคหนุ่มแต่พบเมื่อพ่อตัวนี้โตแล้วซึ่งเวลานั้นลูกที่เกิดจากพ่อตัวนี้มีจำนวนมากในฟาร์มและแสดงความผิดปกติหรือแฝงความผิดปกติอยู่ในลูกทุกตัวแล้ว ในสถานีพ่อพันธุ์มีขบวนการพิสูจน์พ่อพันธุ์ จากข้อมูลการให้ผลผลิตและลักษณะเฉพาะพันธุ์ในลูกสาว ทำให้พบลักษณะที่ไม่ต้องการต่างๆ ก่อนการนำน้ำเชื้อออกใช้ในจำนวนมากแต่อย่างไรก็ตามหากความผิดปกติไม่สามารถตรวจพบในขบวนการพิสูจน์พ่อพันธุ์ก่อนการนำน้ำเชื้อออกบริการการผสมเทียมก็จะเป็นการกระจายความผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางกว่าการผสมจริงเช่นกัน จะเห็นว่า “การผสมเทียมมีคุณอนันต์ แต่หากใช้อย่างไม่รอบคอบก็นำโทษมหันต์มาให้”



การผสมเทียม

การผสมเทียม หมายถึงการรีดน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์แล้วนำไปฉีดเข้าในอวัยวะของสัตว์ตัวเมียนั้น แสดงอาการของการเป็นสัดแล้วทำให้เกิดการตั้งท้องแล้วคลอดออกมาตามปกติ



 


 
ประโยชน์ของการผสมเทียม
  1. ทำให้ประหยัดพ่อพันธุ์เมื่อรีดเก็บน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์ได้แต่ละครั้ง สามารถนำมาละลายน้ำเชื้อ แล้วแบ่งใช้ผสมกับสัตว์ตัวเมียได้จำนวนมาก
  2. สามารถผสมพันธุ์สัตว์ที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กต่างกันได้โดยไม่มีอันตรายจากการขึ้นทับของพ่อพันธุ์
  3. ไม่ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงพ่อพันธุ์
  4. ตัดปัญหาในเรื่องขนส่งโคไปผสม เพราะสามารถนำน้ำเชื้อไปผสมได้ไกล ๆ
  5. บังคับสัตว์ให้ตกลูกได้ตามฟดูกาล คือเลือกระยะเวลาผสมให้ตกลูกตามระยะที่ต้องการ
  6. แก้ปัญหาการผสมติดยาก เช่น กรณีปากมดลูกกดหรือตีบช่องคลอดผิดปกติ เป็นต้น
  7. ป้องกันโรคติดต่อและโรคระบาด เพราะใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ปราศจากโรคและเครื่องมือใช้ในการผสม ได้รับการฆ่าเชื้อโรคเป็นอย่างดีและใช้ผสมเฉพาะตัว
  8. ย่นระยะเวลาการพิสูจน์พ่อพันธุ์ เพราะผสมได้จำนวนมากในระยะสั้น
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม
โคตัวเมียที่แสดงอาการเป็นสัดดังกล่าวควรจะได้รับการผสมเทียมในระยะเวลาช่วงกลางของการเป็นสัด หรือใกล้ระยะที่จะหมดการเป็นสัด (อาจจะหมดการเป็นสัดไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง ก็ได้หรือเมื่อโคเมีย ตัวนั้นยืนนิ่งให้ตัวอื่นขึ้นขี่ซึ่งใช้เป็นหลักในการผสมพันธุ์) โดยทั่ว ๆ ไป โคเมียจะมีระยะเป็นสัดประมาณ 18 ช.ม. แล้วต่อมาอีก 14 ช.ม. จึงจะมีไข่ตกเพื่อรอรับการผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อพ่อโค จึงเห็นสมควรที่ต้อง เลือกเวลาที่เหมาะสม ในการดำเนินการเรื่องของรับบริการผสมเทียมดังมีหลักการที่จะใช้ในการปฏิบัติ งานผสมเทียมคือ
  1. เมื่อโคเมียตัวใดแสดงอาการเป็นสัดในตอนรุ่งเช้าของวันใดวันหนึ่งควรที่จะได้รับการผสมเทียมในวัน เวลาเดียวกัน (ก่อน 16.30 น.) ฉะนั้นพอรุ่งเช้าของแต่ละวันเจ้าของสัตว์ควรจะได้ไปแจ้งและบอกเวลา (ประมาณ) ที่ท่านได้เห็นสัตว์ของท่านแสดงอาการเป็นสัด
  2. ถ้าโคตัวเมียใดแสดงอาการเป็นสัดในตอนบ่ายของวันใดวันหนึ่งควรที่จะได้รับการผสมเทียมตอนเช้า หรือก่อนเที่ยงของวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นเจ้าของสัตว์เมื่อพบว่าสัตว์แสดงอาการเป็นสัดในตอนบ่ายหรือตอนเย็น ท่านควรจะไปแจ้งและบอกเวลาของการเป็นสัด (ประมาณ) ในรุ่งเช้าของวันต่อไปก็ได้
ถ้าท่านได้ศึกษาและรู้จักสังเกตการแสดงอาการเป็นสัดว่าอาการเป็นอย่างไรและหาระยะเวลาที่จะผสม เทียมให้พอเหมาะแล้ว จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผสมเทียมติดยากหรือผสมไม่ค่อยติดในโคตัวเมีย ของท่านได้ทางหนึ่ง และจะทำให้เป็นประโยชน์ในด้านการเพิ่มจำนวนและปริมาณน้ำนมในกิจการโคนม ของท่านยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรที่จะเรียกช่วงเวลาอันสำคัญนี้ว่า "นาทีทองในโคนมตัวเมีย"



จะรู้ได้อย่างไรว่าโคตั้งท้องหรือไม่
เมื่อโคนางได้รับการผสมไปแล้วประมาณ 21 วัน หากโคไม่กลับมาแสดงอาการเป็นสัดอีกก็อาจคาดได้ว่า ผสมติดหรือโคตัวนั้นเริ่มตั้งท้องแล้วหรือเพื่อให้รู้แน่ชัดยิ่งขึ้นภายหลังจากการผสมโคนางแล้ว 50 วันขึ้นไป อาจติดต่อสัตวแพทย์ หรือบุคคลผู้มีความชำนาญในการตรวจท้องแม่โค (โดยวิธีล้วงเข้าไปคลำลูกโคทางทวาร ของแม่โค) มาทำการตรวจท้องแม่โคก็จะทราบได้แน่ชัดยิ่งขึ้น
ข้อสังเกต ในกรณีโคสาวจะสังเกตุได้จากการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น กินจุขึ้นความจุของลำตัวโดยเฉพาะส่วนท้อง ซี่โครง จะกางออกกว้างขึ้น ขนเป็นมันและไม่เป็นสัดอีก

1 ความคิดเห็น: