บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน(00012006) กลุ่มเรียนที่ 20 วันศุกร์เวลา 13.30 - 15.30 น. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเป็นมาของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย

              ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยของเรานั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไร บ้างก็บอกว่าก่อนสมัยสงครามโลก บ้างก็บอกว่าก่อนปี พ.ศ.2500 โดยชาวอินเดียที่อาศัยในไทยได้นำโคนมเข้ามาเลี้ยงเพื่อใช้รีดน้ำนมไว้บริโภคภายในครอบครัว ถ้าเหลือก็ขาย โดยโคนมที่นำมาเลี้ยงในขณะนั้นคือ “โคบังกาลา” ให้น้ำนมวันละ 2-3 กิโลกรัม และให้น้ำนมนาน 250 วันในช่วงการให้นม


            ต่อมาในปี พ.ศ.2463 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่) ได้ทดลองเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตน้ำนมไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน ที่ ตำบลบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ต่อมาก็เริ่มมีคนไทยสนใจเลี้ยงโคนมมากขึ้น แต่ก็ไม่มากนัก และได้มีการจัดตั้งฟาร์มโคนมแห่งแรกชื่อว่า “บางกอกเดรี่ฟาร์ม” โดยพระยาเทพหัสดิน เพื่อผลิตน้ำนมสดบรรจุขวดขายส่งตามบ้าน แต่ไม่คุ้มทุนจึงเลิกไป
            ปี พ.ศ.2486 กระทรวงเกษตรได้จัดตั้งหมวดโคนมขึ้นมาที่เกษตรกลาง บางเขน ทดลองเลี้ยงโคพันธุ์ซีบู (Zebu) แต่พบว่าให้น้ำนมปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจึงได้จัดตั้งองค์การนมขึ้น เพื่อรวบรวมน้ำนมเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงทารก และช่วงเวลาเดียวกันนั้นทหารญี่ปุ่นได้นำโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ เข้ามาจากมลายู และสิงคโปร์ เพื่อรีดน้ำนมไว้เลี้ยงนายทหาร และคนเจ็บ แต่เมื่อสิ้นสงครามองค์การนมได้ล้มเลิกไป เนื่องจากมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมที่มีราคาถูก และคุณภาพดีกว่ามาใช้แทน การเลี้ยงโคนมจึงซบเซาลงไป แต่ยังคงหลงเหลือโคนมพันธุ์โฮลสไตน์อยู่ ซึ่งตกเป็นของชาวอินเดีย และถูกนำไปแพร่พันธุ์ ได้โคนมลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่ให้น้ำนมดีกว่าโคพันธุ์บังกาลาเดิม ในปี พ.ศ. 2491 หม่อมราชวงศ์ชวนิศนดากร วรวรรณ ได้รายงานถึงจำนวนผู้เลี้ยงโคนมในปี พ.ศ. 2488 ว่ามีด้วยกัน 127 ราย (เป็นของคนไทย 5 รายเท่านั้น)
จนปี พ.ศ. 2495 คนไทยมีความตระหนักถึงประโยชน์ของนม จึงหันมาบริโภคน้ำนมกันมากขึ้น ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงหันมาให้ความสนใจการเลี้ยงโคนมเพื่อลดปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม ได้มีการนำเข้าโคนมพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาทดลองเลี้ยง เพื่อหาพันธุ์โคนมที่เหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย โดยได้สังซื้อพันธุ์เรดซินดี้ เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 20 ตัว จากปากีสถาน และส่งไปยังสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ในจังหวัดต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สั่งโคนมพันธุ์เจอซี่ เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 6 ตัว จากออสเตรเลีย เข้ามาเลี้ยงไว้ที่เกษตรกลาง บางเขน เช่นกัน
ปี พ.ศ.2497 กองเกียกกาย กรมพลาธิการทหารบก ได้สั่งซื้อโคนมเจอร์ซี่จากออสเตรเลีย 24 ตัว เพื่อมาขยายพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์โคบังกาลา ที่สถานีซับม่วง นครราชสีมา เพื่อฟื้นฟูการเลี้ยงโคนม และทำผลิตภัณฑ์นมสำหรับใช้ในกองทัพบก
ปี พ.ศ.2499 กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งสถานีผสมเทียมแห่งแรกขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยรับมอบโคนมพันธุ์บราวน์สวิส เพศผู้ 18 ตัว เพศเมีย 30 ตัว จากสมาคมชาวนาอเมริกัน ชื่อ Heifer Project Incorporation เพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ต่างๆ
ปี พ.ศ.2501 นายสุริยน ไรวา เป็นเอกชนรายแรกที่สั่งซื้อโคนมพันธุ์เรดเดนนิช จากเดนมาร์ค 23 ตัว เข้ามาที่ ฟาร์ม เอส อาร์ จังหวัดชลบุรี
ปี พ.ศ.2502 พลเอกสุรจิต จารุเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้หันมาส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอย่างจริงจัง เริ่มต้นที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง สระบุรี โดยใช้โคนมพันธุ์บราวน์สวิส และลูกผสม ที่รวบรวมมาจากสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ทดลอง และฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจ และจากนั้นก็นำเข้าโคนมพันธุ์บราวน์สวิส เจอร์ซี และโฮลสไตน์-ฟรีเชียน อีกจำนวนหนึ่ง
ปี พ.ศ.2503 รัฐบาลเดนมาร์คได้ทูลเกล้าถวาย โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เพื่อเป็นของขวัญแด่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ในโอกาสที่เสด็จเยือนประเทศเดนมาร์ค ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยจัดตั้งฟาร์มโคนม และโรงงานผลิตนมสดขึ้นที่ อ.มวกเหล็ก สระบุรี โดยใช้ชื่อว่า “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” เปิดเป้นทางการในวันที่ 16 มกราคม 2505 ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการเป็นรัฐวิสาหกิจใช้ชื่อใหม่ว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” ในปี พ.ศ. 2516
ปี พ.ศ.2504 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย โดยได้มอบเครื่องพาสเจอร์ไรซ์น้ำนมระบบ High temperature short time ให้แก่ทางมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษา
ปี พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มโครงการเลี้ยงโคนมสวนจิตรลดา เพื่อส่งเสริมการศึกษาปัญหาการเลี้ยงโคนมในประเทศด้วยพระองค์เอง โดยช่วงแรงได้สร้างฟาร์มเลี้ยงโคนม (12 มกราคม 2505) และโปรเกล้าให้สร้างโรงงานนมผงจิตรลดาขึ้นในบริเวณพระราชตำหนักจิตรลดาในเวลาต่อมา (7 ธันวาคม 2512) เพื่อเตรียมไว้แก้ปัญหาทางด้านการตลาดให้แก่เกษตรกร ในกรณีที่มีน้ำนมดิบล้นตลาด
ปี พ.ศ.2510 การเลี้ยงโคนมได้รับความนิยมอย่างสูง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดราชบุรี อยุธยา และนครปฐม ปัญหาที่ตามมาคือ ปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้มากเกินความต้องการของตลาดท้องถิ่น จำเป็นต้องหาแหล่งรับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น สหกรณ์ที่ดินได้ให้ความช่วยเหลือโดยการเสนอโครงการจัดตั้ง และส่งเสริมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมต่อรัฐบาลขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเดนมาร์ค ในการสร้างศูนย์รวบรวมนม และโรงงานผลิตน้ำนมสดขึ้นที่จังหวัดอยุธยา และนครปฐม ซึ่งต่อมาคือ สหกรณ์โคนมอยุธยา จำกัด และสหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด
ปี พ.ศ.2514 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตจังหวัดราชบุรีได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด” เนื่องจากได้รับความเดือนร้อนที่ไม่สามารถจำหน่ายน้ำนมดิบได้ ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ช่วยเหลือในการจัดสร้างโรงงานนมผงขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพราชบุรี จำกัด” และได้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่พบว่าการผลิตนมผงนั้นขาดทุนตลอดมา เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงมาก ต่อมาบริษัทผลิตภัณฑ์นมฯ จึงได้รวมการดำเนินงานเข้ากับสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)”
ปี พ.ศ.2525 เป็นปีที่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 รัฐบาลได้วางเป้าหมายเร่งรัดการผลิตน้ำนมดิบให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 17.7 ต่อปี เพื่อให้สามารถผลิตน้ำนมดิบได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า ผลเร่งรัดดังกลางทำให้มีการนำเข้าโคนมจากต่างประเทศกว่า 2,000 ตัว และสามารถผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยร้อยละ 24 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในช่วงแรกที่มีการเลี้ยงโคนมนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่มักมีความเห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของไทยร้อน ไม่เหมาะกับการเลี้ยงโคนม และคนไทยสมัยนั้นยังไม่นิยมดื่มนม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันปรากฏว่าการเลี้ยงโคนมเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความมั่นคง ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวออกไปในอัตราที่รวดเร็วทั้งภาครัฐ และเอกชน อีกทั้งคนไทยยังนิยมดื่มนมกันมากขึ้นจนการผลิตน้ำนมสดไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ และยังคงต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น