บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน(00012006) กลุ่มเรียนที่ 20 วันศุกร์เวลา 13.30 - 15.30 น. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเป็นมาของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย

              ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยของเรานั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไร บ้างก็บอกว่าก่อนสมัยสงครามโลก บ้างก็บอกว่าก่อนปี พ.ศ.2500 โดยชาวอินเดียที่อาศัยในไทยได้นำโคนมเข้ามาเลี้ยงเพื่อใช้รีดน้ำนมไว้บริโภคภายในครอบครัว ถ้าเหลือก็ขาย โดยโคนมที่นำมาเลี้ยงในขณะนั้นคือ “โคบังกาลา” ให้น้ำนมวันละ 2-3 กิโลกรัม และให้น้ำนมนาน 250 วันในช่วงการให้นม


            ต่อมาในปี พ.ศ.2463 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่) ได้ทดลองเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตน้ำนมไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน ที่ ตำบลบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ต่อมาก็เริ่มมีคนไทยสนใจเลี้ยงโคนมมากขึ้น แต่ก็ไม่มากนัก และได้มีการจัดตั้งฟาร์มโคนมแห่งแรกชื่อว่า “บางกอกเดรี่ฟาร์ม” โดยพระยาเทพหัสดิน เพื่อผลิตน้ำนมสดบรรจุขวดขายส่งตามบ้าน แต่ไม่คุ้มทุนจึงเลิกไป
            ปี พ.ศ.2486 กระทรวงเกษตรได้จัดตั้งหมวดโคนมขึ้นมาที่เกษตรกลาง บางเขน ทดลองเลี้ยงโคพันธุ์ซีบู (Zebu) แต่พบว่าให้น้ำนมปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจึงได้จัดตั้งองค์การนมขึ้น เพื่อรวบรวมน้ำนมเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงทารก และช่วงเวลาเดียวกันนั้นทหารญี่ปุ่นได้นำโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ เข้ามาจากมลายู และสิงคโปร์ เพื่อรีดน้ำนมไว้เลี้ยงนายทหาร และคนเจ็บ แต่เมื่อสิ้นสงครามองค์การนมได้ล้มเลิกไป เนื่องจากมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมที่มีราคาถูก และคุณภาพดีกว่ามาใช้แทน การเลี้ยงโคนมจึงซบเซาลงไป แต่ยังคงหลงเหลือโคนมพันธุ์โฮลสไตน์อยู่ ซึ่งตกเป็นของชาวอินเดีย และถูกนำไปแพร่พันธุ์ ได้โคนมลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่ให้น้ำนมดีกว่าโคพันธุ์บังกาลาเดิม ในปี พ.ศ. 2491 หม่อมราชวงศ์ชวนิศนดากร วรวรรณ ได้รายงานถึงจำนวนผู้เลี้ยงโคนมในปี พ.ศ. 2488 ว่ามีด้วยกัน 127 ราย (เป็นของคนไทย 5 รายเท่านั้น)
จนปี พ.ศ. 2495 คนไทยมีความตระหนักถึงประโยชน์ของนม จึงหันมาบริโภคน้ำนมกันมากขึ้น ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงหันมาให้ความสนใจการเลี้ยงโคนมเพื่อลดปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม ได้มีการนำเข้าโคนมพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาทดลองเลี้ยง เพื่อหาพันธุ์โคนมที่เหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย โดยได้สังซื้อพันธุ์เรดซินดี้ เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 20 ตัว จากปากีสถาน และส่งไปยังสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ในจังหวัดต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สั่งโคนมพันธุ์เจอซี่ เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 6 ตัว จากออสเตรเลีย เข้ามาเลี้ยงไว้ที่เกษตรกลาง บางเขน เช่นกัน
ปี พ.ศ.2497 กองเกียกกาย กรมพลาธิการทหารบก ได้สั่งซื้อโคนมเจอร์ซี่จากออสเตรเลีย 24 ตัว เพื่อมาขยายพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์โคบังกาลา ที่สถานีซับม่วง นครราชสีมา เพื่อฟื้นฟูการเลี้ยงโคนม และทำผลิตภัณฑ์นมสำหรับใช้ในกองทัพบก
ปี พ.ศ.2499 กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งสถานีผสมเทียมแห่งแรกขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยรับมอบโคนมพันธุ์บราวน์สวิส เพศผู้ 18 ตัว เพศเมีย 30 ตัว จากสมาคมชาวนาอเมริกัน ชื่อ Heifer Project Incorporation เพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ต่างๆ
ปี พ.ศ.2501 นายสุริยน ไรวา เป็นเอกชนรายแรกที่สั่งซื้อโคนมพันธุ์เรดเดนนิช จากเดนมาร์ค 23 ตัว เข้ามาที่ ฟาร์ม เอส อาร์ จังหวัดชลบุรี
ปี พ.ศ.2502 พลเอกสุรจิต จารุเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้หันมาส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอย่างจริงจัง เริ่มต้นที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง สระบุรี โดยใช้โคนมพันธุ์บราวน์สวิส และลูกผสม ที่รวบรวมมาจากสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ทดลอง และฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจ และจากนั้นก็นำเข้าโคนมพันธุ์บราวน์สวิส เจอร์ซี และโฮลสไตน์-ฟรีเชียน อีกจำนวนหนึ่ง
ปี พ.ศ.2503 รัฐบาลเดนมาร์คได้ทูลเกล้าถวาย โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เพื่อเป็นของขวัญแด่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ในโอกาสที่เสด็จเยือนประเทศเดนมาร์ค ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยจัดตั้งฟาร์มโคนม และโรงงานผลิตนมสดขึ้นที่ อ.มวกเหล็ก สระบุรี โดยใช้ชื่อว่า “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” เปิดเป้นทางการในวันที่ 16 มกราคม 2505 ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการเป็นรัฐวิสาหกิจใช้ชื่อใหม่ว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” ในปี พ.ศ. 2516
ปี พ.ศ.2504 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย โดยได้มอบเครื่องพาสเจอร์ไรซ์น้ำนมระบบ High temperature short time ให้แก่ทางมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษา
ปี พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มโครงการเลี้ยงโคนมสวนจิตรลดา เพื่อส่งเสริมการศึกษาปัญหาการเลี้ยงโคนมในประเทศด้วยพระองค์เอง โดยช่วงแรงได้สร้างฟาร์มเลี้ยงโคนม (12 มกราคม 2505) และโปรเกล้าให้สร้างโรงงานนมผงจิตรลดาขึ้นในบริเวณพระราชตำหนักจิตรลดาในเวลาต่อมา (7 ธันวาคม 2512) เพื่อเตรียมไว้แก้ปัญหาทางด้านการตลาดให้แก่เกษตรกร ในกรณีที่มีน้ำนมดิบล้นตลาด
ปี พ.ศ.2510 การเลี้ยงโคนมได้รับความนิยมอย่างสูง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดราชบุรี อยุธยา และนครปฐม ปัญหาที่ตามมาคือ ปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้มากเกินความต้องการของตลาดท้องถิ่น จำเป็นต้องหาแหล่งรับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น สหกรณ์ที่ดินได้ให้ความช่วยเหลือโดยการเสนอโครงการจัดตั้ง และส่งเสริมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมต่อรัฐบาลขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเดนมาร์ค ในการสร้างศูนย์รวบรวมนม และโรงงานผลิตน้ำนมสดขึ้นที่จังหวัดอยุธยา และนครปฐม ซึ่งต่อมาคือ สหกรณ์โคนมอยุธยา จำกัด และสหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด
ปี พ.ศ.2514 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตจังหวัดราชบุรีได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด” เนื่องจากได้รับความเดือนร้อนที่ไม่สามารถจำหน่ายน้ำนมดิบได้ ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ช่วยเหลือในการจัดสร้างโรงงานนมผงขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพราชบุรี จำกัด” และได้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่พบว่าการผลิตนมผงนั้นขาดทุนตลอดมา เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงมาก ต่อมาบริษัทผลิตภัณฑ์นมฯ จึงได้รวมการดำเนินงานเข้ากับสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)”
ปี พ.ศ.2525 เป็นปีที่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 รัฐบาลได้วางเป้าหมายเร่งรัดการผลิตน้ำนมดิบให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 17.7 ต่อปี เพื่อให้สามารถผลิตน้ำนมดิบได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า ผลเร่งรัดดังกลางทำให้มีการนำเข้าโคนมจากต่างประเทศกว่า 2,000 ตัว และสามารถผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยร้อยละ 24 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในช่วงแรกที่มีการเลี้ยงโคนมนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่มักมีความเห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของไทยร้อน ไม่เหมาะกับการเลี้ยงโคนม และคนไทยสมัยนั้นยังไม่นิยมดื่มนม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันปรากฏว่าการเลี้ยงโคนมเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความมั่นคง ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวออกไปในอัตราที่รวดเร็วทั้งภาครัฐ และเอกชน อีกทั้งคนไทยยังนิยมดื่มนมกันมากขึ้นจนการผลิตน้ำนมสดไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ และยังคงต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก

พระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม

พระราชบัญญัติ
โคนมและผลิตภัณฑ์นม
พ.ศ. ๒๕๕๑
                       
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยโคนมและผลิตภัณฑ์นม
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“โคนม” หมายความว่า โคซึ่งตามปกติเลี้ยงไว้เพื่อการผลิตนม
“ผลิตภัณฑ์นม” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำน้ำนมโค นมผงและนมคืนรูปมาผ่านขบวนการผลิต โดยการแยกออกหรือเติมเข้าไปซึ่งวัตถุอื่นใด หรือแยกมันเนยบางส่วนหรือเกือบทั้งหมดออกจากนม
“อุตสาหกรรมนม” หมายความว่า การผลิต ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนและให้ซึ่งน้ำนมโค เนื้อโคนมและผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อโคนม ตลอดจนอาหารสัตว์ น้ำเชื้อ ตัวอ่อน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตและการตลาด การบริการเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม การผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อโคนม และการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมนม
“น้ำนมโค” หมายความว่า น้ำนมที่รีดจากแม่โคหลังจากคลอดลูกแล้วสามวัน เพื่อให้ปราศจากน้ำนมเหลือง โดยมิได้แยกหรือเติมวัตถุอื่นใด และยังไม่ผ่านกรรมวิธีการผลิตในขั้นตอนใดๆ
“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร
“ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
“เกษตรกรโคนม” หมายความว่า ผู้ซึ่งประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมเพื่อส่งน้ำนมโคให้กับศูนย์รับน้ำนมโคขององค์กรของรัฐ องค์กรของเอกชนหรือสหกรณ์
“องค์กรเกษตรกรโคนม” หมายความว่า สมาคม สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรโคนมที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแต่ไม่รวมถึงบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีเกษตรกรโคนมเป็นผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
“ผู้แทนองค์กรเกษตรกรโคนม” หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรเกษตรกรโคนม
“ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจการผลิตหรือจำหน่ายโคนมหรือผลิตภัณฑ์นม หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
“ผู้แทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม” หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม
“ผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจการผลิตหรือจำหน่ายโคนมหรือผลิตภัณฑ์นม หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสิบสองคนเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการจำนวนสองคน โดยมาจากผู้แทนองค์กรเกษตรกรโคนมหนึ่งคน และผู้แทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมหรือผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมหนึ่งคน
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งให้แต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในด้านโคนมและผลิตภัณฑ์นมจากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนสองคน ผู้แทนองค์กรเกษตรกรโคนมจำนวนห้าคน ซึ่งเสนอโดยชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด และผู้แทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมจำนวนห้าคน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม
มาตรา ๕ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) ไม่เคยเป็นผู้ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา ๗
(๕) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือกรรมการที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
มาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕
(๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๗) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
มาตรา ๘ ถ้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนใดคนหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระจะต้องมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างลง และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระในมาตรา ๖ หากยังไม่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๙ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจมาประชุมได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกกรรมการซึ่งมาประชุมคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดโดยมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๐ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนม
(๒) กำหนดนโยบายและแผน การผลิตและการจำหน่ายน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
(๓) กำหนดปริมาณและเงื่อนไขการนำเข้า การส่งออกน้ำนมโค นมผงและผลิตภัณฑ์นม
(๔) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนในการผลิตน้ำนมโคและกำหนดราคาซื้อน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งกำหนดวันรับซื้อและวันหยุดรับซื้อน้ำนมโคของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม
(๕) กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด
(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามพระราชบัญญัตินี้ และอาจเชิญส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนหรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย ความเห็นหรือคำแนะนำ รวมทั้งขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง
(๗) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเกษตรกรโคนม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม ในการกำหนดมาตรฐานปัจจัยการผลิตและผลิตภัณฑ์ สถานที่เลี้ยงโคนมศูนย์รวบรวมน้ำนมโคและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งระบบการขนส่ง เพื่อให้การผลิตและการตลาดโคนมและผลิตภัณฑ์นมเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโคนมและผลิตภัณฑ์นม
(๘) กำหนดข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นมและอุตสาหกรรมนมตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนมทั้งระบบ ได้แก่ เกษตรกรโคนม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและผู้บริโภครวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมนมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโคในประเทศให้มีเสถียรภาพ มีน้ำนมที่มีคุณภาพ และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้น ในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรเกษตรกรโคนมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม และภาคราชการที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ

การเริ่มต้นเลี้ยงโคนม

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ   ทุน   สถานที่   ตลาด   และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในที่นี้จะกล่าวเน้นเฉพาะทุนในการดำเนินการซึ่งทุนดังกล่าวอาจแบ่งแยกออกได้เป็น  5   รายการคือ
1.ทุนสำหรับซื้อโค
2.ทุนสำหรับสร้างโรงเรือนหรือคอกสัตว์
3.ทุนสำหรับการเตรียมแปลงหญ้า
4.ทุนสำหรับการหาแหล่งน้ำหรือการชลประทาน
5.ทุนสำหรับรับรองจ่าย  ซึ่งหมายถึง  ทุนหมุนเวียน เช่นค่าอาหาร หรือ ค่าแรงงานต่าง ๆ เป็นต้น

การเริ่มต้นเลี้ยงโคนมอาจเริ่มต้นได้หลายวิธี   ซึ่งแล้วแต่ความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละบุคคลในการเริ่ม ต้นที่จะเลี้ยง   ซึ่งอาจพอแนะนำพอเป็นสังเขปได้ เช่น
1. เริ่มต้นโดยการหาหรือเลือกซื้อแม่โคพันธุ์พื้นเมืองหรือแม่ที่มีสายเลือดโคเนื้อที่มีลักษณะดีไม่เป็นโรคติดต่อมา เลี้ยง   แล้วใช้วิธีผสมเทียมกับสายเลือดโคพันธุ์นมของยุโรปพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง   เมื่อได้ลูกผสมตัวเมียก็จะมีเลือดโคนม   50  เปอร์เซ็นต์   ซึ่งเมื่อเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ   30 - 36   เดือนก็จะให้ลูกตัวแรกแม่โคตัวนี้ก็จะเริ่มรีดนมได้
2. เริ่มต้นโดยหาซื้อลูกโคนมพันธุ์ผสมเพศเมียมาเลี้ยง   โดยอาศัยนมเทียมหรือหางนมผงละลายน้ำให้กินในปริมาณ จำกัด   พร้อมทั้งให้อาหารข้นและหญ้าแก่ลูกโคจนกระทั่งหย่านม - อายุผสมพันธุ์ - ท้อง - คลอดลูกและเริ่มรีดนม ได้
3. เริ่มต้นโดยการจัดซื้อโคนมอายุเมื่อหย่านม,โครุ่น,โคสาวหรือโคสาวที่เริ่มตั้งท้องหรือแม่โคที่เคยให้นมมาแล้ว จากฟาร์มใดฟาร์มหนึ่งมาเลี้ยง   วิธีนี้ใช้ทุนค่อนข้างสูงแต่ให้ผลตอบแทนเร็ว

หลักในการเลือกซื้อโคนม     ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรจะเริ่มต้นเลี้ยงโคนมด้วยวิธีใดก็ตามควรจะมีหลักในการพิจารณาเลือกซื้อโคนมบ้าง  เพื่อให้ได้สัตว์ ที่มีคุณภาพดี   ซึ่งหลักในการพิจารณาเลือกซื้อโคนมดังกล่าวมีอยู่หลายประการอาจกล่าวแนะนำพอสังเขปได้ดังนี้  คือ
1. ไม่ว่าจะเลือกซื้อโคขนาดใดก็ตามต้องสอบถามประวัติ   ซึ่งหมายถึง   สายพันธุ์และความเป็นมาอย่างน้อยพอสังเขป
2. ถ้าเป็นโครีดนมควรจะเป็นแม่โคที่ให้ลูกตัวที่  1  ถึง  ตัวที่  4
3. ถ้าเป็นแม่โคที่รีดนมมาหลายเดือนควรจะตั้งท้องด้วย
4. ถ้าเป็นโคสาวหรือแม่โคนมแห้งก็ควรจะเป็นแม่โคที่ตั้งท้องด้วยเพื่อเป็นการย่นระยะเวลาจะได้รีดนมเร็วขึ้น
5.ควรเป็นโคที่มีประวัติการให้นมดีพอใช้และต้องปลอดจากโรคแท้งติดต่อและโรควัณโรค

การเป็นสัด

การเป็นสัด(Oestrus) คือการเป็นสัตว์คือช่วงเวลาที่สัตว์เพศเมียยอมรับการผสมพันธุ์จากตัวผู้แล้วมีการตกไข่ โดยพฤติกรรมการเป็นสัดอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมน ชนิดต่างหลายอย่างนอกจากอาการยอมรับการผสมพันธุ์จากเพศผู้แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาอื่นๆ เช่นอวัยวะเพศบวมแดง มีเมือกไหล ร้องเสียงดัง กระวนกระวาย  
            
              การเป็นสัดโคเพศเมีย จะเริ่มเป็นสัดเมื่อถึงวัยสาวหรือวัยเจริญพันธุ์(Puberty) ในโคอายุที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 7-18 เดือน (โดยเฉลี่ยประมาณ 10 เดือน) ขึ้นกับการเลี้ยงดู ความสมบูรณ์ของอาหาร การได้รับอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้โคเจริญพันธุ์ช้า (delay puberty) ปัจจัยที่มีผลมากต่อวัยเจริญพันธุ์คือน้ำหนักตัว เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวที่โตเต็มที่ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับ ชนิดของโคแต่ละสายพันธุ์ด้วย

              โดยปกติโคจะมีวงรอบการเป็นสัดเฉลี่ย 20-21 วัน (18-24 วัน) โคพันธุ์เมืองร้อน (Bos indicus) แสดงการเป็นสัดสั้นโดยเฉลี่ยแสดงอาการเป็นสัด ประมาณ 11 ชั่วโมง และสัดเริ่มแสดงอาการในช่วงเย็นของวัน หลักจากแสดงอาการเป็นสัดแล้วจะเกิดการตกไข่ (Ovulation) โดยประมาณ 25-26 ชั่วโมง ส่วนโคพันธุ์เมืองหนาว (Bos taurus) จะแสดงอาการเป็นสัดที่นานกว่าประมาณ 18 ชั่วโมง และเกิดการตกไข่ประมาณ 28-31 ชั่วโมงหลังการเป็นสัด
              วงรอบการเป็นสัดแบ่งเป็น 4 ระยะ ตามลักษณะพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงอวัยวะสืบพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ที่มีความสอดคล้องกัน ซึ่งระยะทั้ง 4 คือ

              1. ระยะก่อนการเป็นสัด (Pro-oesturs)
              2. ระยะเป็นสัด (Oesturs)
              3. ระยะหลังการเป็นสัด (Metoesturs)
              4. ระยะไม่เป็นสัดในวงรอบ (Dioesturs)

              วงรอบการเป็นสัดสามารถแบ่งเป็น 2 ระยะตามการพบฟอลลิเคิล และคอร์ปัสลูเทียม คือระยะที่ฟอลลิเคิลเจริญทำงานมากเรียกว่า ระยะฟอลลิคิวลาเฟส (Follicular phase) เป็นช่วงที่รวมระยะก่อนเป็นสัดและระยะเป็นสัด ส่วนระยะที่มีคอร์ปัสลูเทียมทำงานเรียกว่า ระยะลุเทียลเฟส (luteal phase) โดยรวมระยะหลังการเป็นสัดและระยะไม่เป็นสัดในวงรอบ

วงรอบการเป็นสัด

               1. ระยะก่อนการเป็นสัด (Pro-oesturs)

              คือวันที่ 17-20 หลังการเป็นสัด เป็นระยะที่โคเข้าสู่การเป็นสัดรอบใหม่ ระบบสืบพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลง ฟอลลิเคิล (follicle) เจริญอย่างรวดเร็ว คอร์ปัสลูเทียม (corpus luteum) จากการเป็นสัดในรอบที่แล้ว ฝ่ออย่างรวดเร็ว มดลูกมีการเปลี่ยนแปลง มีเลือดเลี้ยงมาก ต่อมสร้างสารคัดหลั่งเจริญขยายตัวในส่วนคอมดลูก (cervix) และช่องคลอด (vagina) โดยช่องคลอดจะบวมแดงมีเมือกใสเหนียวไหลจากช่องคลอดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน

               2. ระยะเป็นสัด (Oesturs)

              คือ สันที่ 0 ของการเป็นสัด เป็นระยะที่ ฟอลลิเคิลขนาดใหญ่ (dominant follicle) มีการเจริญเติบโตเต็มที่ และเกิดการตกไข่ตามมา (ovulation) โคจะแสดงการเป็นสัดโดยเฉลี่ยประมาณ 4-24 ชั่วโมง และ โคจะแสดงการยอมรับการผสม และยืนนิ่งเมื่อมีตัวอื่นปีน (standing heat)
              ระยะการเป็นสัด โคจะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น กระวนกระวาย ถ้าเป็นวัวระยะให้นมจะมีการสร้างน้ำนมลดลง การยืนนิ่งยอมเป็นปีนของตัวอื่น พบเมือกหรือสารคัดหลั่งจากมดลูก คอมดลูก และช่องคลอดมีมากที่สุด เยื่อเมือกของปากช่องคลอดจะแดงมีเลือดคลั่ง
              ในระยะนี้ ระดับฮอร์โมน แอลเอช LH (Luteinzing Hormone) จะเพิ่มขึ้นสูงมากก่อนที่จะตกไข่ ตามมาหลังจากที่แสดงอาการเป็นสัด ประมาณ 30 ชั่วโมง
              การผสมเทียม (AI) ระยะที่เหมาะสมคือ 12-18 ชั่วโมง หลักการยืนนั่ง (standing heat)

              3. ระยะหลังการเป็นสัด (Metoesturs)

              คือวันที่ 2-4 ของการเป็นสัด ในระยะนี้โคจะหยุดแสดงอาการเป็นสัด และรังไข่มีการสร้าง คอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) และเริ่มมีการแสดงฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน
              ในบางครั้งอาจจะพบว่าเลือดออกมาจากช่องคลอด (Metoestrus bleeding) ได้ในระยะนี้ ปกติพบประมาณ 90% และไม่เกิน 45% ในแม่วัว ซึ่งเป็นลักษณะเมือกปนเลือดพบติดตามหลังหรือบริเวณช่องคลอดด้านนอก
              การพบเลือดจากช่องคลอด ไม่ได้บ่งบอกว่าการผสมพันธุ์ ที่เกิดขึ้นนั้ จะทำให้ผสมติดหรือผสมไม่ติด

              4. ระยะไม่เป็นสัดในวงรอบ (Dioesturs)

              คือ วันที่ 5-17 หลังจกาการเป็นสัด เป็นระยะที่ ระยะที่มีคอร์ปัสลูเทียม (CL) เจริญเติบโตเต็มที่มดลูกพร้อมรับการตั้งท้อง มีระดับโปรเจสเตอโรน (progesterone) สูง คอมดลูกปิดมีเมือกเหนียวปิดอยู่ เยื่อเมือกช่องคลอดค่อนข้างซีด
              ในช่วงท้ายของระยะนี้ถ้าโคไม่มีการตั้งท้อง ก็จะมีการสร้างฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) จากมดลูก (Uterus) มาสลายคอร์ปัสลูเทียม (CL) หลังจากนั้นก็จะมีการเริ่มขบวนการเป็นสัด (Estrous cycle) ในรอบใหม่

ต่อมไร้ท่อและอวัยวะที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนระบบสืบพันธุ์

              1. ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus)
              2.ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary gland)
              3. รังไข่ (Ovary)
              4. มดลูก (Uterus)

โรคของโคนม

โรคโคนมและโคเนื้อ เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคแบบเดียวกัน แต่บางโรคเกิดขึ้นกับโคนมบ่อยกว่าโคเนื้อ โรคโคนมบางโรค เชื้อสาเหตุสามารถติดต่อมาถึงคนโดยผ่านทางน้ำนม ดังนั้นคนที่บริโภคน้ำนมดิบที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคจากโคนมได้ เช่น วัณโรค (Tuberculosis) และโรคบรูเซลโลซิล (Brucellosis) น้ำนมโคที่จะได้คุณภาพสูงโคนมจะต้องถูกควบคุมตรวจสอบโรคบางโรคเป็นประจำ โรคของโคนมที่น่าสนใจบางโรค ได้แก่

เต้านมอักเสบ


เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับโคนมและมีผลเสียหายต่อการให้น้ำนมและสุขภาพโค การเกิดโรคเต้านมอักเสบ สร้างความเสียหายดังนี้
  • การให้น้ำนมของแม่โคลดลง
  • ทำให้เสียเวลาในการดูแลรักษา
  • เสียค่าใช้ยา และค่ารักษาพยาบาล
  • น้ำนมจากโคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบต้องเททิ้ง
  • ทำให้ต้องคัดแม่โคออกจากฝูง

เต้านมอักเสบเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ลุกลามเข้าไปในเต้านมโดยผ่านเข้าไปทางรูนม เชื้อสาเหตุมีมากมายหลายชนิด ที่พบบ่อยมักจะเป็นพวก Streptococcus หรือ Staphylococcus
โรคเต้านมอักเสบที่มีอาการรุนแรง โคจะแสดงอาการดังนี้
  • เต้านมอักเสบ
  • เต้านมบวม ร้อน บริเวณติดเชื้อเป็นไตแข็ง
  • น้ำนมลด
  • น้ำนมที่รีดได้ผิดปกติ เช่น น้ำนมจับตัวเป็นเส้น มีตะกอนสีเหลือง มีเลือดปน
  • แม่โคไม่กินอาหาร ซึม มีไข้
Streptococcus

Staphylococcus

อาการเต้านมอักเสบเรื้อรัง โคมีอาการดังนี้
  • น้ำนมที่รีดได้ผิดปกติ (มีตะกอน เป็นเกล็ด นมใส)
  • เต้านมบวมและแข็ง ต่อมาอาจจะหายเป็นปกติ
  • การให้น้ำนมของแม่โคลดลง

การป้องกันและรักษาโรคเต้านมอักเสบทำได้โดย
1. รักษาความสะอาดของคอก อุปกรณ์ และทุกขั้นตอนของการรีด
2. ใช้น้ำสะอาดหรือน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดเต้านมให้สะอาด แล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาดก่อนรีดทุกครั้ง
3. อย่าใช้เวลารีดนมนานเกินไป รีดนมให้หมดเต้า แล้วจุ่มหัวนมหรือเช็ดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันทีที่รีดเสร็จ
4. อย่าเปลี่ยนคนรีดโดยไม่จำเป็น และรีดให้ตรงเวลา
5. ตรวจเช็คน้ำนมทุกเต้าก่อนรีดลงถังโดยรีดใส่ภาชนะสีเข้ม และถ้าพบความผิดปกติ ให้รีดไปทิ้งห่างไกลจากคอก แล้วล้างมือให้สะอาด
6. รีดโคเต้านมอักเสบเป็นตัวสุดท้าย และรีดเต้าที่อักเสบเป็นเต้าสุดท้ายด้วย
7. รักษาทันทีที่พบว่าโคเต้านมอักเสบ แล้วรีบแจ้งหรือขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นรุนแรง (ดูรายละเอียดจากเรื่องยาสอดเต้านม)
8. ควรสอดยาป้องกันเต้านมอักเสบให้แก่โคที่เคยเป็นโรคนี้เมื่อหยุดรีดนม


รกค้าง (Retained placenta)
การเกิดรกค้างหมายถึงว่าหลังคลอดลูกแม่โคไม่ได้ขับรกออกมาในช่วง 12-14 ชั่วโมง ปกติแล้วร้อยละ 10-20 ของแม่โคมักจะเกิดรกค้าง ถ้าเราเกิดขึ้นบ่อยครั้งสูงกว่าเกณฑ์ปกติแสดงว่าผู้เลี้ยงควรดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด สาเหตุของรกค้างเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
  • เกิดการติดเชื้อโรคในช่องอวัยวะสืบพันธุ์ของแม่โคขณะอุ้มท้อง
  • แม่โคได้รับวิตามิน A หรือ E ธาตุไอโอดีน และซิลิเนียมไม่เพียงพอ
  • แคลเซียมและฟอสฟอรัสในอาหารไม่สมดุล
  • แม่โคอ้วนมากเกินไป (ได้รับอาหารข้นมากเกินไป)
  • เกิดความเครียดเนื่องจากคลอดลูกเร็วเกินไป

การจัดการที่ดีช่วยลดการเกิดค้างได้ กรณีที่เกิดรกค้างกับแม่โคให้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรักษาต่อไป

ไข้นม (Milk fever)
ไข้นมเกิดจากการขาดแคลเซียมในเลือด มักเกิดกับแม่โคที่มีอายุน้อย แม่โคที่ให้นมสูง มักเกิดภายใน 2-3 วันหลังคลอดลูก

อาการของไข้นม ประกอบด้วย
  • แม่โคเบื่ออาหาร
  • แม่โคมีอาการตื่นเต้น
  • ซึม ตัวเย็น เนื้อจมูก (muzzle) แห้ง
  • เป็นอัมพาต ล้มลงนอน เอาหัวพาดไปกับลำตัว
  • ต่อมานอนเอาข้างลง เกร็งยืดตัวหัวออก
  • มีอาการท้องอืด

การป้องกันทำได้โดยการจัดสัดส่วนอาหารให้มีโภชนะสมดุลปรับอัตราส่วน Ca : P ให้ถูกต้อง การรักษาสัตว์ป่วยทำได้โดยการฉีดยาสารละลายแคลเซียมเข้าเส้นเลือด

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

การเลี้ยงโคนม

การเลี้ยงดูลูกโค
ก่อนที่จะพูดถึงการเลี้ยงลูกโค ควรจะทำความรู้รู้จักกับนมน้ำเหลืองก่อน นมน้ำเหลือง คือน้ำนมที่ผลิต ออกมาจากแม่โคในระยะแรกคลอดจะผลิตออกมานานประมาณ 2-5 วัน ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นนมธรรมดา ลักษณะของนมน้ำเหลืองจะมีสีขาวปนเหลือง มีรสขม มีคุณสมบัติคือ จะมีภูมิคุ้มโรค อีกทั้งช่วยป้องกันโรคที่ เกิดกับระบบลำไส้และผิวหนังและยังเป็นยาระบายท้องอ่อน ๆ ของลูกโคได้อีกด้วย มีคุณค่าทางอาหารสูงเมื่อ ลูกโคคลอดมาใหม่ ๆ ควรแยกลูกโคออกจากแม่โคทันที และควรจะให้กินนมน้ำเหลืองจากแม่โคภายใน 6 ชั่วโมงหลังคลอด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงโดยเร็ว ลูกโคควรได้กินนมน้ำเหลืองราว 2-5 วัน ให้กินวันละ 2 เวลา เช้า, เย็น

วิธีการฝึกให้ลูกโคกินนม

อาจฝึกได้โดยให้ลูกโคกินนมจากถังพลาสติกหรืออะลูมิเนียมหัดให้กินโดยใช้นิ้วมือจุ่มลงในน้ำนมให้เปียก แล้วแหย่เข้าไปในปากลูกโคให้ลูกโคดูด แล้วกดหัวลูกโคให้ปากจุ่มลงไปในน้ำนม ลูกโคจะดูดนิ้วมือ ขณะเดียวกันน้ำนมก็จะไหลเข้าไปได้หัดดูดนิ้วมือเช่นนี้ประมาณ 3-4 ครั้งต่อ ๆ ไปจึงค่อย ๆ ดึงนิ้วมือออก ปล่อยให้ลูกโคดูดกินเองต่อไป ทำเช่นนี้ประมาณ 1-3 วัน ลูกโคก็จะค่อย ๆ เคยชิน สามารถดูดจากถังเองได้
วิธีเลี้ยงลูกโคระยะแรกอาจปฏิบัติได้ดังนี้


นมแม่ ให้ลูกโคกินต่อหลังจากนมน้ำเหลืองหมดจนลูกโคอายุได้ 1 เดือน (4 สัปดาห์) แล้วจึงให้กินนมเทียม หรือนมผงละลายน้ำต่อจนอายุได้ 3-4 เดือน (12-16 สัปดาห์) จึงหย่านม
นมเทียม หรือนมผงละลายน้ำ สำหรับการเลี้ยงลูกโคเพศเมีย ควรให้กินต่อจากนมแม่เมื่ออายุได้ 1 เดือน (4 สัปดาห์) แต่สำหรับลูกโคเพศผู้ ควรให้กินนมแม่อย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงเริ่มให้กินนมเทียมหรือนมผง ละลายน้ำ และให้กินต่อไปจนหย่านมหรืออายุได้ประมาณ 3-4 เดือน (12-16 สัปดาห์)

หมายเหตุ การเลี้ยงดูลูกโคนมดังกล่าวมาแล้ว เป็นการเลี้ยงดูลูกโคแบบ "ให้นมจำกัดหรือให้อาหารข้น ลูกโคอ่อน" ไม่ว่าเลี้ยงดูด้วยนมแม่หรือนมเทียมกล่าวคือ การให้นมควรจะให้ในปริมาณที่เกือบคงที่ตลอดไป คือประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ตัวอย่างเช่น ลูกโคเกิดมามีน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ก็ให้นมวันละ 3-4 กิโลกรัม ตลอดไปโดยแบ่งให้เข้า 2 กิโลกรัม บ่าย 2 กิโลกรัม จนอายุหย่านมในขณะเดียวกันควรตั้งอาหารข้น สำหรับลูกโคและหญ้าแห้งคุณภาพดีวางไว้ให้ลูกโคได้ทำความรู้จักและหัดกิน ตั้งแต่ลูกโคอายุได้ 1 สัปดาห์ จนถึง 12 สัปดาห์ต่อจากนั้นให้กินหญ้าสด วิธีการดังกล่าวเป็นการหัดโดยการบังคับให้ลูกโค ช่วยเหลือตัวเอง โดยเร็วที่สุดเป็นวิธีการที่ประหยัดนมแม่โคได้มาก และรวมทั้งนมเทียมด้วย เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยงดู ลูกโค
อนึ่ง สำหรับวิธีการผสมนมเทียม หรือนมผงละลายน้ำเราอาจใช้การผสมในอัตราส่วน 1 ต่อ 7 ถึง 10 ส่วน แต่ที่นิยมใช้คือ 1 ต่อ 8 หรือ 1 ต่อ 9 ส่วน ตัวอย่างเช่นถ้าใช้นมผง 1 กิโลกรัมก็ต้องผสมน้ำ 8 กิโลกรัม หรือ ถ้าใช้นมผง ฝ กิโลกรัม ก็ต้องผสมน้ำ 4 กิโลกรัม ในการผสมแต่ละครั้งควรคนให้เข้ากัน และต้องเติมน้ำมัน ตับปลาหรือวิตามินลงไปด้วยการผสมนมผผงแต่ละครั้งมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับท่านมีลูกโคจำนวนมาก น้อยเพียงใด

การทำเครื่องหมาย
ลูกโคที่เกิดออกมาโดยมีพ่อและแม่พันธุ์เดียวกัน พ่อตัวเดียวกันก็ย่อมจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เมื่อโตขึ้น อาจจะสัตว์ไม่ได้ หรือจำผิดพลาดได้ว่าเกิดเมื่อไร พ่อแม่ชื่ออะไร หรือเบอร์อะไร และเมื่อทำการซื้อ-ขาย จะทำประวัติก็เป็นการยุ่งยากลำบาก ดังนั้นลูกโคจึงจำเป็นที่จะต้องทำเครื่องหมายเพื่อแสดงให้ทราบว่าเกิดจากพ่อแม่พันธุ์อะไร เบอร์อะไร เมื่อไหร่ ซึ่งจะเป็นการสะดวกในการทำประวัติ และป้องกันรักษาโรค ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีด้วยกันอาทิเช่น ทำเครื่องหมายโดยตัดหู ตีเบอร์ติดหู ตีเบอร์ไฟ หรืออื่น ๆ เป็นต้น และเมื่อลูกโคอายุได้ประมาณ 3-6 สัปดาห์ หรือประมาณ 1-2 เดือน ก็ควรทำการจี้เขาเพื่อทำไม่ให้มีเขาอันจะเป็นอันตรายต่อฝูงโคหรือเจ้าของสัตว์เองได้

การเลี้ยงโครุ่น-โคสาว
เมื่อลูกโคอายุได้ 4 เดือน ระบบการย่อยได้พัฒนาดีขึ้นในช่วงนี้อัตราการตายจะต่ำ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าพ้นช่วงระยะอันตรายแล้วจากระยะนี้ถึงระยะโครุ่น คืออายุประมาณ 180-205 วัน ( น้ำหนักประมาณ 120-150 กิโลกรัม ) ซึ่งระยะนี้ถึงระยะโครุ่น คืออายุประมาณ 180-205 วัน (น้ำหนักประมาณ 120-150 กิโลกรัม) ซึ่ง ระยะนี้โคจะสามารถกินหญ้าได้ดีแล้ว จากนั้นก็จะถึงระยะการเป็นโคสาว (น้ำหนักประมาณ 200-250 กิโลกรัม) ต่อไปก็จะถึงระยะเกณฑ์ผสมพันธุ์ คืออายุได้ประมาณ 18-22 เดือน (น้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม หรือประมาณ 60-70% ของน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่) ในช่วงดังกล่าวนี้ โคจะเจริญอย่างรวดเร็ว ควรเพิ่มอาหารผสมให้บ้างเป็นวันละ 1-2 กิโลกรัม และให้หญ้ากินเต็มที่ ในกรณีที่เลี้ยงแบบปล่อยลงใน แปลงหญ้าก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น เพราะโคได้ออกกำลังกายและยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงาน ได้มากอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามในการให้อาหารผสม (อาหารข้น) แก่โครุ่น-โคสาว ในปริมาณมากน้อย เท่าใดนั้นให้พิจารณาถึงคุณภาพของหญ้าที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นสำคัญ


การเลี้ยงและดูแลโครีดนม
แม่โคจะให้นมหรือมีน้ำนมให้รีดก็ต่อเมื่อหลังจากคลอดลูกในแต่ละครั้งซึ่งจะให้นมเป็นระยะยาว, สั้น มากน้อยต่างกกันขึ้นกับความสามารถของแม่โคแต่ละตัว, พันธุ์และปัจจัยอื่น ๆ อีก แต่โดยทั่วไปจะรีดนม ได้ประมาณ 5-10 เดือน นมน้ำเหลืองควรจะรีดให้ลูกโคกินจนหมดไม่ควรนำส่งเข้าโรงงานเป็นอันขาดและ ควรให้อาหารแก่นมโคอย่างเพียงพอเพื่อแม่โคจะได้ไปสร้างน้ำนมและเสริมสร้างร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่ยังไม่ สมบูรณ์ได้อย่างเพียงพอ ภายหลังจากคลอดลูกโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 30-70 วันหลังจากคลอดมดลูกจะ เริ่มกลับเข้าสู่สภาพปกติ แม่โคจะเริ่มเป็นสัดอีกแต่อย่างไรก็ตามเมื่อแม่โคแสดงอาการเป็นสัดภายหลังคลอด น้อยกว่า 25 วันยังไม่ควรให้ผสม เพราะมดลูกและอวัยวะต่าง ๆ ในระบบสืบพันธุ์เพิ่งฟื้นตัวใหม่ ๆ ยังไม่เข้าสู่ สภาพปกติ ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ควรจะรอให้เป็นสัดครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจึงค่อยผสมซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้ เวลาประมาณ 45-72 วัน หลังจากคลอด

การตัดแต่งกีบโคนม

             การดูแลกีบเท้าของโคเป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับการจัดการฟาร์มเพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำนมที่ดีจากแม่โคนม เนื่องจากส่วนกีบเท้าต้องทำหน้าที่คล้ายกับรองเท้าของมนุษย์ กล่าวคือต้องปกป้องอันตรายหรือสิ่งที่อาจทำให้ เกิดความเจ็บปวดแก่ส่วนเท้าที่ใช้ก้าวเดินบนพื้นดินแล้ว กีบเท้ายังต้องแบกรับตัวโค ซึ่งมีน้ำหนักมาก โดยเฉลี่ยแม่โคมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัมปัญหาที่เกิดกับกีบเท้าของโคคือ เมื่อกีบมีลักษณะผิดปกติหรือเกิดความเสียหายขึ้น โคไม่สามารถจะเปลี่ยน กีบเท้าได้ ไม่เหมือนมนุษย์ ซึ่งหากรองเท้าที่สวมใส่เกิดชำรุดใช้การไม่ดีก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ กีบเท้าโคมี ลักษณะเหมือนเล็บเท้าของมนุษย์ ที่สามารถงอกยาวได้และเป็นส่วนที่แข็งเกิดจากเนื้อเยื่อสร้างกีบของนิ้วเท้า ที่สร้างออกมาตลอดเวลาเนื้อเยื่อนิ้วเท้าส่วนที่สร้างกีบของโคนั้นยังสามารถบ่งบอกสุขภาพของโคได้ กล่าวคือหากแม่โคซึ่งมีน้ำหนักมาก เกิดภาวะความเครียดหรืออยู่ในช่วงระยะตั้งท้องหรือในช่วงระยะที่ขาดสารอาหาร เช่น ฤดูแล้ง เป็นต้น การสร้างเนื้อกีบจะเกิดความผิดปกติ อาจบิดเบี้ยวโค้งงอ หรือเป็นร่อง และอาจเกิดความเจ็บปวดขึ้นภายในเนื้อเยื่อ สร้างกีบอีกด้วย ทำให้แม่โคเจ็บเท้าและให้ผลผลิตน้ำนมลดลง การดูแลและแก้ไขให้กีบเท้ามีรูปร่างลักษณะปกติและแข็งแรง จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างสม่ำเสมอ


การตัดแต่งกีบเท้าโดยทั่วไป

การตัดแต่งกีบโคให้เข้ารูปปกตินั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถกระทำได้ทุกคน สิ่งสำคัญก็คือ ความชำนาญที่ ต้องผ่านการฝึกสอนและปฏิบัติด้วยตนเองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ตัดแต่งกีบ นั้นต้องพร้อม โดยเฉพาะมีดแต่งกีบต้องมีความคมมากและได้รับการฝนคมอย่างถูกต้อง
ขั้นตอนการปฏิบัติการตัดแต่งกีบโค ประกอบด้วย
1. การควบคุมขาโค
2. การใช้คีมตัดกีบและมีดแต่งกีบ
3. การตรวจสอบ วางแผน และลงมือตัดแต่งกีบ

เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการตัดแต่งกีบโคนม

1. มีดแต่งกีบ ลักษณะใบมีดโค้ง ปลายงอหักมุม คมมีดด้านในหน้าเดียว มีด้ามจับแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบสำหรับบุคคลที่ถนัดมือขวา และแบบสำหรับบุคคลที่ถนัดมือซ้าย ตัวอย่างดังรูป


2. คีมตัดกีบ ลักษณะคล้ายคีมปากนกแก้ว แต่ขนาดใหญ่กว่า ตัวอย่างดังรูป


3. อุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ สิ่ว ฆ้อน หมอนรองกีบ ถุงหนังหุ้มกีบ และเครื่องมือป้องกันโคเตะ เป็นต้น

การควบคุมขาโค

ในกรณีใช้อุปกรณ์ช่วยยกและบังคับขาโค


การควบคุมโคและขาโค ควรมีผู้ช่วยประคองตัวโค ในขณะที่ผู้ตัดแต่งกีบลงมือทำงาน การยกขาหลังขึ้นสามารถใช้เชือกผูกรัดขาโคบริเวณข้อเท้าดึงขึ้นรั้งกับคานที่อยู่เหนือขึ้นไป หลังจากนั้นผู้ตัดแต่งกีบจะต้องเข้า ควบคุมขานั้นทันที่ เพื่อไม่ให้โคเสียศูนย์ ซึ่งอาจทำให้ล้มหรือบาดเจ็บได้ ในกรณียกขาโคด้วยมือ (เฉพาะกรณี โคเชื่องมาก เท่านั้น)


การยกขาหน้าขวาด้วยมือ ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ยืนชิดตัวโค สอดเข่าของผู้ปฏิบัติเข้าไปบริเวณพับในด้านหน้าของขาหน้าของโค
2. โน้มตัวลง พร้อมกับสอดแขนขวาชิดลำตัวโค ลงไประหว่างขาพับด้านหลังของขาหน้าโค
3. โน้มหัวไหล่ขวาดันตัวโค ให้น้ำหนักตัวโคถ่ายเทไปยังขาหน้าซ้าย
4. ใช้มือซ้าย จับข้อเท้าโคยกขึ้น แล้ววางขาหน้าของโค บนหน้าขาของผู้ปฏิบัติ

การยกขาหลังซ้ายด้วยมือ ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. สอดเข่าซ้ายของผู้ปฏิบัติชิดข้อขาหลังซ้ายของโค
2. โน้มตัวลง พร้อมกับสอดแขนซ้ายลงไปตามขาหลังด้านพับในจนถึงข้อเท้า
3. โน้มตัว ดันตัวโคให้น้ำหนักโค ถ่ายเทลงไปที่ขาอีกข้างของโค
4. ยกข้อเท้าขาหลังขึ้น วางบนข้อเข่าของผู้ปฏิบัติ

ข้อควรระวัง ในระหว่างการจับยกขาหลัง ผู้ปฏิบัติต้องระวังอย่ายืนบริเวณด้านหลังของขาหลังของโคเป็นอันขาด

การจับมีดสำหรับการตัดแต่งกีบโคนม


1. เลือกใช้มีดแต่งกีบโค ให้เหมาะกับมือที่ถนัด แล้วจับด้ามมีดให้แน่น
2. การปาดกีบ ใช้วิธีปาดขึ้น หรือปาดลง โดยการหมุนเปลี่ยนข้อมือ
3. ในระหว่างการปาดกีบทุกครั้ง ให้ระวังนิ้วมืออาจได้รับอันตรายได้ โดยการวางนิ้วมือให้อยู่หลังคมมีดเสมอ

ขั้นตอนการตัดแต่งกีบเท้าหลัง

เริ่มจากกีบในของขาหลัง


1. กำหนดความยาว และความหนาของกีบ ที่ต้องการตัดออก


2. ใช้คีมหรือสิ่ว ตัดปลายกีบส่วนที่ยาวเกินออก


3. ใช้คีม ขลิบขอบกีบด้านนอกของกีบใน เพื่อลดความหนาของพื้นกีบ
4. ใช้มีดแต่งกีบ ปาดพื้นกีบออกเป็นแผ่นบาง ๆ ทำหลาย ๆ ครั้งจนพื้นกีบบางพอได้ระดับที่กำหนด
5. ใช้มีดแต่งกีบ แต่งเว้าขอบด้านในของกีบใน ให้เรียบและไม่เกิดร่องเศษดินหินอุดตันได้
6. ใช้มีดแต่งกีบ ปาดเฉือนบริเวณอื่น ๆ ของกีบ ที่ผุร่อนหรือเป็นรอยแยก เช่น ส้นเท้า เป็นต้น

หมายเหตุ ในกรณีที่กีบในมีขนาดเล็กอยู่แล้ว และไม่ผิดรูปทรง ไม่จำเป็นต้องตัดแต่ง

การตัดแต่งกีบนอกของขาหลัง

1. กำหนดความยาว และความหนาของกีบนอก ให้เทียบเท่าหรือขนาดใกล้เคียงกับกีบใน


2. ใช้คีมหรือสิ่ว ตัดปลายกีบส่วนที่ยาวเกินออก


3. ใช้คีม ขลิบขอบกีบด้านนอกของกีบนอก เพื่อลดความหนาของพื้นกีบ




4. ใช้มีดแต่งกีบ ปาดพื้นกีบออกเป็นแผ่นบาง ๆ ทำหลาย ๆ ครั้งจนพื้นกีบได้ระดับเท่ากีบใน


5. ใช้มีดแต่งกีบ แต่งเว้าขอบด้านในของกีบนอก ให้เรียบและไม่เกิดร่องเศษดินหินอุดตันได้


6. ใช้มีดแต่งกีบ ปาดเฉือนบริเวณอื่น ๆ ของกีบ ที่ผุร่อนหรือเป็นรอยแยก เช่น ส้นเท้า เป็นต้น

หมายเหตุ การปาดพื้นกีบ ควรระวังอย่าปาดลึกเกินไป อาจทำให้เกิดแผลเลือดออกได้

ปัญหากีบเท้าและการป้องกันแก้ไขสันกีบสึกกร่อน

สาเหตุ : กีบอยู่ในสภาพชื้นแฉะบ่อยครั้ง และสกปรก สึกกร่อนโดยเชื้อแบคทีเรีย
การแก้ไข : จัดสถานที่ให้โคได้ยืนบนพื้นที่แห้งและสะอาด
การป้องกัน : จัดทำอ่างน้ำยา ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือน้ำยาจุนสี (Copper sulfate)
สำหรับแช่กีบเท้าโค วันละ 1-2 ครั้ง ในอัตราส่วนน้ำยาฟอร์มาลิน (Commercial Formalin)
3-5 ลิตร ในน้ำ 100 ลิตร

หมายเหตุ น้ำยาจุนสี อาจเกิดการสะสมในดินและพืชอาหารสัตว์จนเกิดเป็นพิษต่อสัตว์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยง การใช้โดยเลือกใช้โดยเลือกใช้น้ำยาฟอร์มาลินแทนซึ่งไม่ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
การจัดการให้โคเดินผ่านอ่างน้ำยาฟอร์มาลิน ควรกระทำในช่วงฤดูฝนซึ่งมีการปล่อยโคแทะเล็มแปลงหญ้า ควรให้โคเดินผ่านน้ำยา วันละ 2 ครั้งติดต่อกัน จนครบ 5 วัน แล้วเปลี่ยนน้ำยา ควรกระทำเป็นระยะ ๆ ในช่วง ฤดูฝนหรือในช่วงที่มีโคมีปัญหากีบสึกกร่อนบ่อย กีบเท้าของโคจะมีความแข็งแรงมากขึ้น
ขนาดของอ่างแช่น้ำยาฟอร์มาลิน ควรมีขนาด กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3-5 เมตร และลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ตัวอ่างควรตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือปากทางเข้าฟาร์ม โรงเรือน

ภาพตัวอย่างการตัดแต่งกีบโคนมโดยใช้เครื่องตัดแต่งกีบโคนม

พันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับอากาศร้อน

         อากาศร้อนเป็นปัจจัยสำคัญมีผลทำให้โคนมผลผลิตจำกัด ไม่ทนต่อโรคและแมลง การเลี้ยงโคนมในเขตอากาศร้อนจึงจำเป็นต้องเลือกพันธุ์โคและวิธีการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

  1. คัดเลือกโคพื้นเมือง หรือโคลูกผสมที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นได้ดี และให้น้ำนมสูงพอที่จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ประเทศเขตอากาศร้อนบางประเทศมีโคในท้องถิ่นซึ่งนำมาเลื้ยงเป็นโคนมได้ เช่น โคพันธุ์เรดซินด์ (Red Sindhi) พันธุ์ซาฮิวาล (Sahiwal) ในอนุทวีปอินเดีย (Indian sub-continent) โคพันธุ์ดามัสกัส (Damascus) ในตะวันออกของเอเชีย
  2. นำเข้าโคพันธุ์ต่างประเทศที่ให้นมและทนร้อนได้ดี เช่น การนำโค Australian Milking Zebu มาเลี้ยงในประเทศไทย
  3. นำเข้าโคพันธุ์แท้ในเขตหนาวที่ให้นมสูง โดยที่จัดการสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูให้มันสามารถเลี้ยงและให้ผลผลิตได้ ดังเช่นการนำโคนมพันธุ์แท้โฮลสไตน์เข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยโดยสร้างโรงเรือนและเลี้ยงดูเป็นพิเศษวิธีเช่นนี้ลงทุนสูงมาก
  4. นำเข้าพ่อพันธุ์โคนมหรือน้ำเชื้อโคพันธุ์ดีมาผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมืองทำการผสมเพิ่มระดับเลือดโคนม จนได้ระดับเลือดที่เหมาะสม คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ที่เหมาะสม เช่น โครงการปรับปรุงพันธุ์โคนม TMZ (Thai Milking Zebu) ของกรมปศุสัตว์

ตัวอย่างพันธุ์โคนมทนร้อนได้ดี

โคพันธุ์เรดซินด์ (Red Sindhi)

พันธุ์ซาฮิวาล (Sahiwal)

Australian Milking Zebu


ตัวอย่างวิจัย โครงการปรับปรุงพันธุ์โคนม TMZ (Thai Milking Zebu)


ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการศึกษา
การพัฒนาพันธุกรรมโคนมของประเทศไทย เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต และเป็นการสร้างทางเลือกให้เกษตรกรเลือกใช้พันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและศักยภาพของเกษตรกรเอง โครงการสร้างพันธุ์โคนม TMZ (Thai Milking Zebu) เป็นโครงการสร้างพันธุ์โคนมทางเลือกสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการเลี้ยงโคนมที่มีระดับสายเลือดโคยุโรปในระดับที่ไม่สูงเกินไป โดยพื้นฐานทางพันธุกรรมของโคพันธุ์ TMZ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน กับโคซีบู และผสมยกระดับสายเลือดโคพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ให้คงใว้ที่ระดับ 75 เปอร์เซ็นต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้โคนมที่ให้ผลผลิตน้ำนมปานกลาง เลี้ยงง่าย หากินเก่ง เชื่อง ไม่อั้นนม คลอดง่ายทนทานต่อโรคและแมลงต่างๆ ทนเห็บ สามารถเลี้ยงได้ดีในระดับเกษตรกรรายย่อยทั่วไป และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นได้ดี โดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ถึงปัจจุบัน ซึ่งในการพัฒนาพันธุกรรมของลักษณะที่สนใจ จำเป็นต้องทราบค่าทางพันธุกรรม เพื่อใช้ในการคัดเลือกให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรมได้อย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าการผสมพันธุ์ (estimated breeding value, EBV) ที่ประมาณได้สามารถใช้ในการคัดเลือกทางพันธุกรรมของลักษณะที่สนใจ และใช้บ่งบอกผลตอบสนองทางพันธุกรรมจากการดำเนินการที่ผ่านมา โดยแสงออกเป็นค่าเฉลี่ยรายปี ที่เบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยของฝูงปรับปรุงพันธุ์


วัตถุประสงค์ในการศึกษา
เพื่อประมาณค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมของลักษณะผลผลิตน้ำนม และศึกษาผลตอบสนองทางพันธุกรรมของลักษณะผลผลิตน้ำนม ในโคนม TMZ


ความรู้ทางวิชาการ หรือแนวคิดหรือหลักทฤษฎีที่ใช้ในการดำเนินการ
การปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้สัตว์พันธุ์ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด จะต้องมีการคัดเลือกสัตว์ที่แสดงลักษณะดีเด่นที่สนใจให้สามารถถ่ายทอดลักษณะสู่ลูกหลานได้ โดยค่าการผสมพันธุ์ (breeding value, BV) ซึ่งเป็นค่าอิทธิพลเนื่องจากยีนแบบบวกสะสม (additive gene effect) เป็นค่าที่นักปรับปรุงพันธุ์ให้ความสนใจเนื่องจากสามารถถ่ายทอดจากชั่วหนึ่งไปยังอีกชั่วหนึ่งได้ แต่เนื่องจากเป็นค่าที่ไม่สามารถชั่ง ตวง หรือวัดได้โดยตรง ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือเข้าช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อใช้อธิบายอิทธิพลในรูปของคุณค่าการผสมพันธุ์ ซึ่งแสดงอิทธิพลออกมาในรูปของตัวเลขและสามารถใช้เปรียบเทียบความสามารถของสัตว์รายตัวได้ และใช้ในการคัดเลือกสัตว์เพื่อให้ได้ถ่ายทอดลักษณะดีเด่นสู่ลูกหลาน ในรุ่นต่อไป


วิธีการหรือขั้นตอนการศึกษา

1. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นข้อมูลผลผลิตน้ำนมของโคนมตามโครงการสร้างพันธุ์โคนม TMZ ที่เลี้ยงในศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ลำพญากลาง และฟาร์มเกษตรกรเครือข่ายโครงการสร้างพันธุ์โคนม TMZ จำนวน 23 ฟาร์ม ในเขตพื้นที่ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ทุกข้อมูลถูกตรวจสอบและบันทึกด้วยโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูลโคนม DHI (Dairy Herd Improvement) ของกลุ่มวิจัยและพัฒนาโคนม กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ โดยข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลผลผลิตน้ำนมต่อระยะการให้นม (actual milk yield per lactation) ที่จัดเก็บเป็นรายตัวเดือนละ 1 ครั้ง ใช้หน่วยวัดเป็นกิโลกรัม เมื่อครบระยะการให้นมจะคำนวณเป็นผลผลิตน้ำนมรวมต่อระยะการให้นมด้วยโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูลโคนม DHI ข้อมูลที่ได้ถูกจัดเก็บไว้เป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนข้อมูล (data file) และส่วนพันธุ์ประวัติ (pedigree file)
2. การวิเคราะห์ข้อมูล ทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของความแปรปรวน ด้วยวิธี Restricted Maximum Likelihood (REML) และประเมินค่าการผสมพันธุ์ด้วยวิธี Best Linear Unbiased Prediction (BLUP) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป BLUPF90 PCPAK 2.0 ในการวิเคราะห์ด้วยโมเดลตัวสัตว์แบบวิธีวิเคราะห์ลักษณะเดียว คุณค่าการผสมพันธุ์ที่ประมาณได้ ถูกนำมาสร้าง Regression line ระหว่าง EBV ของพ่อพันธุ์กับค่าเฉลี่ยผลผลิตน้ำนมต่อระยะการให้นมของลูกสาว เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตน้ำนมลูกสาวต่อหน่วย EBV ของพ่อพันธุ์ โดยใช้สมการถดถอยเชิงเส้น (linear regression equation)
3. สรุปผลงาน เขียนรายงานและเผยแพร่

ระบุผลสำเร็จของงาน หรือผลการศึกษา (กรณีที่เป็นผลงานที่ดำเนินการเสร็จแล้ว)
ผลการศึกษาพบว่า ค่าอัตราพันธุกรรมและค่าอัตราซ้ำ ของลักษณะผลผลิตน้ำนมของโคนม TMZ มีค่าเท่ากับ 0.27 และ 0.50 ตามลำดับ ซึ่งมีผลตอบสนองทางพันธุกรรมในช่วงปี 2531 ถึง 2545 เพิ่มขึ้น 147.74 กิโลกรัม โดยภายหลังปี 2542 มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มพ่อพันธุ์โคนม TMZ ที่มีค่า EBV สูงกว่าค่าเฉลี่ยฝูงมีค่าในช่วง 23.5-146.62 กิโลกรัม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 50.22 กิโลกรัม และกลุ่มแม่พันธุ์โคนม TMZ ที่มีค่า EBV สูงกว่าค่าเฉลี่ยฝูง จำนวน 260 แม่ มีค่าในช่วง 1.05 – 479.68 กิโลกรัม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 83.01 กิโลกรัม โดยสัมประสิทธิ์รีเกรซชั่นของค่า EBV พ่อพันธุ์กับค่าเฉลี่ยผลผลิตน้ำนมลูกสาวมีค่าเท่ากับ 1.63 และมีค่า Intercept เท่ากับ 2,816.74 กิโลกรัม

การนำไปใช้ประโยชน์ หรือคาดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์
ค่าอัตราพันธุกรรมของการให้ผลผลิตน้ำนมในโคนม TMZ มีค่าในระดับปานกลาง แสดงว่าในการปรับปรุงลักษณะต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการและสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป กับการพัฒนาทางด้านพันธุกรรม จึงจะส่งผลให้การพัฒนาพันธุกรรมมีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยทิศทางในการพัฒนาพันธุกรรมการให้ผลผลิตน้ำนมในโคนม TMZ มีทิศทางในการพัฒนาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าทางพันธุกรรมในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงแนวทางที่ดำเนินการเป็นไปตามแผนดำเนินงานที่วางไว้ ในส่วนของการพัฒนาพันธุกรรมด้านการให้ผลผลิตน้ำนม สามารถนำคุณค่าการผสมพันธุ์ (EBV) ที่ได้จากการศึกษามาใช้ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ที่มีความดีเด่นทางพันธุกรรมด้านการให้ผลผลิตน้ำนมทั้งในฝูงปรับปรุงพันธุ์และฟาร์มเกษตรกรเครือข่ายให้ได้ถ่ายทอดลักษณะสู่รุ่นลูกหลาน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรมการให้ผลผลิน้ำนมอย่างไม่หยุดยั้ง

การจัดการรีดนม

การรีดนมแม่โคเป็นขั้นตอนสำคัญในการเก็บเกี่ยวผลลิตน้ำนม หลักสำคัญในการรีดนมคือ

  1. การปฎิบัติต่อแม่โครีดนม ควรกระทำด้วยความนุ่มนวล สม่ำเสมอ ขณะรีดไม่ควรให้แม่โคตื่นตกใจ หรือมีความเครียดเพราะจะทำให้แม่โคให้นมลดลง
  2. การรีดนมควรจะมีเวลากำหนดแน่นอน ปกติรีดวันละ 2 ครั้ง กรณีที่แม่โคให้นมมากอาจจะรีดวันละ 3 ครั้ง กรณีที่รีดวันละ 2 ครั้ง ช่วงห่างของการรีดนมควรห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง ไม่ควรรีดนมผิดเวลาไปจากที่ปฎิบัติเป็นประจำ
  3. ก่อนรีดนมต้องทำความสะอาดเต้านมโดยการเช็ดล้าง และกระตุ้นให้แม่โคปล่อยน้ำนม
  4. การรีดนมควรรีดให้เสร็จและหมดเต้าภายใน 5-7 นาที
  5. อุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับการรีดนม ต้องสะอาด
  6. คนรีดนมต้องสะอาดและมีสุขภาพดี ไม่ควรเปลี่ยนคนรีดนมโดยไม่จำเป็น


การรีดนมทำได้ 2 วิธี คือ
  1. การรีดนมด้วยมือ
  2. การรีดนมด้วยเครื่องรีดนม

น้ำนมที่รีดได้จะมีอุณภูมิประมาณ 36 c ควรทำให้เย็นลงโดยเร็ว เพื่อลดอัตราการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ที่อาจจะปนเปื้อนติดมา สำหรับเกษตรกรรายย่อยอาจจะยุ่งยากในการทำให้นมที่รีดได้เย็นลง ดังนั้นควรจะรีบส่งนมที่รีดได้ให้กับศูนย์รวมนมดิบโดยเร็ว ถ้าเป็นฟาร์มใหญ่ควรใช้เครื่องทำความเย็นทำนมที่รีดได้เย็นลงต่ำกว่า 10 c เพื่อเป็นการรักคุณภาพน้ำนม ทำให้เก็บน้ำนมได้นานขึ้นก่อนส่งถึงโรงงาน


รีนนมด้วยเครื่องรีดนม


รีดนมด้วยมือ


 
ขั้นตอนในการรีดนมเพื่อให้ได้น้ำนมที่สะอาด
  1. การเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโดยใช้น้ำยาคลอดรีนอย่างเจือจาง
  2. การเตรียมอุปกรณ์การรีด ซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำการรีด และแม่โคให้เรียบร้อย การเตรียมการต่าง ๆ ควรจัด การให้สะอาดหรือฆ่าเชื้อก่อนด้วยยาคลอริน
  3. ทำความสะอาดตัวโคและบริเวณคลอรินที่สกปรก
  4. ล้างเต้านมด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำยาคลอรีน พร้อมกับนวดเช็ดเบา ๆ
  5. ก่อนลงมือรีดควรตรวจสอบความผิดปกติของน้ำนมหรือทำการรีดน้ำนมที่ค้างอยู่ในหัวนมทิ้งเสียก่อน
  6. ขณะลงมือรีดน้ำควรรีบรีดให้เร็วที่สุดไม่หยุดพักกะให้เสร็จภายใน 5-6 นาที และต้องรีดให้หมดทุกเต้า

การรีดนมด้วยมือ

กระทำได้โดยการใช้นิ้วหัวแม่มือนิ้วชี้บีบหรือรีดหัวนมตอนบนเพื่อเป็นการปิดทางนม เป็นการกันไม่ให้น้ำนม ในหัวนมหนีขึ้นไปอยู่ตอนบนต่อมาก็ใช้นิ้วที่เหลือ (กลาง, นาง, ก้อย) ทำการบีบไล่น้ำนมตั้งแต่ตอนบนเรื่อย ลงมาข้างล่างจะทำให้ภายในหัวนมมีแรงอัดและน้ำนมจะถูกดันผ่านรูนออกมาและเมื่อขณะที่ปล่อยช่องนิ้ว (หัวแม่มือ, นิ้วชี้) ที่รีดหัวนมตอนบนออก น้ำนมซึ่งมีอยู่ในถุงพับนม ข้างบนจะไหลลงมาส่วนล่างเป็นการเติม ให้แก่หัวนมอีกเป็นเช่นนี้ตลอดระยะเวลาที่รีดจนกระทั่งน้ำนมหม

วิธีการหยุดรีดนมแม่โค

ในการหยุดรีดนมแม่โคโดยเฉพาะแม่โคที่เคยให้นมมาก ๆ ควรจะต้องระมัดระวังในการหยุดรีด เพราะ อาจจะทำให้เกิดโรคเต้านมอักเสบได้โดยง่าย วิธีการหยุดรีดควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือในขั้นต้น อย่ารีดให้น้ำนมหมดเต้าเลยทีเดียว ในช่วงแรก ๆ ควรค่อย ๆ ลดอาหารข้นลงบ้างตามส่วน แล้วต่อไปจึง เริ่มลดจำนวนครั้งที่รีดนมในวันหนึ่ง ๆ ลงมา ลงเป็นวันละครั้ง ต่อมาจึงรีดเว้นวันและต่อมาก็เว้นช่วงให้นาน ขึ้นจนกระทั่งหยุดรีดนมในที่สุด ซึ่งปกติโดยทั่ว ๆ ไป จะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน และในขณะที่หยุดพัก รีดนมนี้จะต้องหมั่นสังเกตเต้านมอยู่เสมอ ถ้าปรากฏว่าบวมแดงหรืออักเสบต้องรีบตามสัตวแพทย์มาช่วย รักษา และต้องหวนกลับมารีดนมตามเดิมไปก่อนถ้าไม่มีโรคแทรกแล้ว เต้านมของแม่โคที่พักการให้นม ใหม่ ๆ โดยทั่วไปก็จะคัดเต้าอยู่สักระยะหนึ่งแล้วจึงค่อย ๆ ลีบเล็กลงไปในที่สุด

ปัญหาที่พบบ่อยในการรีดนม
ถ้ารู้ว่าโคตัวใดเป็นโรคเต้านมอักเสบทำให้การรีดหลังโคตัวอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกระจายของโรคและ ควรรีดเต้าที่อักเสบทีหลังสุด และให้ระวังการเช็ดล้างเต้านม
ถ้าโคตัวใดเป็นแผลหรือเป็นฝีที่หัวนม ขณะที่ทำการรีดนมแม่โคอาจแสดงอาการเจ็บปวด อาจทำร้าย คนรีดได้ในกรณีเวลารีดควรแตะต้องแผลให้น้อยที่สุด และควรรีบจัดการรักษาใส่ยาหรือใช้ขี้ผึ้งทา หลังรีดนม เสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดด้วย
ถ้ามีโคตัวใดนมรั่ว ซึ่งเกิดจากเต้านมคัด ซึ่งเป็นเพราะกล้ามเนื้อวงแหวนที่รัดรูหัวนมไม่แข็งแรงพอ หรือค่อนข้างเสื่อมสมรรถภาพ กรณีที่ไม่มีแนวทางแก้ไขอาจใช้จุกปิดหรืออุดรูหัวนมหรือใช้วิธีรีดนมให้ถี่ขึ้น ก็ได้
ถ้าพบว่าแม่โคบางตัว ให้น้ำนมที่มีสีผิดปกติเกิดขึ้นกล่าวคือน้ำนมอาจเป็นสีแดงหรือมีสีเลือดปนออกมา ซึ่งอาจเป็นเพราะเส้นเลือดฝอยในเต้านมแตก ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ จะค่อย ๆ หายไปเองในไม่ช้า น้ำนม ที่ได้ควรนำไปให้ลูกโคกินไม่ควรบริโภค
ถ้าพบว่าแม่โคตัวใดเตะเก่ง ขณะทำการรีดจะต้องใช้เชือกมัดขา ซึ่งควรค่อย ๆ ทำ การฝึกหัดให้เคยชิน โดยไม่ต้องใช้เชือกมัด เพราะวิธีการมัดขารีดนมไม่ใช่เป็นวิธีการที่ดีจะทำให้วัวเคยตัว

การรีดนมด้วยเครื่องรีดนมมีขั้นตอน ดังนี้
  1. เตรียมเครื่องรีดนม เปลี่ยนใส้กรองของท่อเครื่องรีดนมให้เรียบร้อย
  2. ประกอบตัวถังเครื่องรีดนมแยกจากเครื่องใหญ่ให้เสร็จเรียบร้อย พร้อมตรวจเช็กอุปกรณ์ในห้องรีดให้ครบ
  3. เปิดระบบเครื่องรีดนมให้ทำงานพร้อมเตรียมตัวรีดนมต่อไป
  4. ปล่อยแม่โครีดนมเข้าห้องรีดนม
  5. ทำความสะอาดเต้าแม่โครีดนมให้เรียบร้อย โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดเต้านมที่เตรียมไว้ พร้อมกระตุ้นเต้านมให้แม่โคปล่อยน้ำนม และตรวจทานไม่โคนมจะต้องไม่เป็นเต้านมอักเสบ ในกรณีที่เป็นก็รีดใส่ถังแยกต่างหากไม่ใช้เครื่องใหญ่รีดรวมปะปนกันเข้าไปในถังเก็บนมใหญ่
  6. จากนั้นก็สวมหัวเครื่องรีดนมได้ ขั้นตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับระบบของเครื่องรีดนม อาทิ บางรุ่นจะต้องกดปุ่มรีดนมก่อนถึงจะรีดได้ บางรุ่นสามารถดึงมาสวมใส่เต้านมได้เลย เป็นต้น
  7. รอจนกว่าหัวรีดนมจะหยุดทำงานเองโดยอัตโนมัติ เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปยื่นรอสามารถไปรีดนมตัวอื่นได้เลย แล้วหัวรีดนมจะหยุดเองโดยอัตโนมัติ
  8. เมื่อหัวรีดนมหยุดทำงานแล้ว ก็ไปตรวจเต้านมของแม่โคดูว่าแม่โคตัวนั้นๆ ให้นมหมดเต้าหรือยัง ในกรณีให้ยังไม่หมดเต้าเราสามารถรีดนมซ้ำอีกรอบก็ได้ เมื่อตรวจทานครบทุกตัวแล้ว ปล่อยโคชุดนั้นๆ ออกไปได้แล้วเตรียมตัวรีดแม่โคนมชุดต่อไป

ตัวอย่าง อุปกรณ์การรีดนมด้วยเครื่องรีดนม

เครื่องรีดนม

น้ำผสมสบู่เหลวเพื่อใช้ทำความสะอาดหัวนมโคก่อนรีด

ถังรีดนมแยกจากเครื่องใหญ่ ในกรณีโคเป็นเต้านมอักเสบ
(ปกติจะมีอุปกรณ์ประกอบครบแต่ในรูปมีแสดเฉพาะตัวถังรีด)

จุกสวมใส่หัวรีดนม ในกรณีโคบางตัวเต้านมไม่ปกติ เช่น หัวนมผิดปกติ หรือเสียไม่สามารถรีดได้ เป็นต้น


และยังมี ผ้าเช็ดเต้านมจะใช้ 1 ผืนต่อโค 1 ตัว ใช้เสร็จแล้วรวบรวมไปซักพร้อมกันทีเดียว ไม่ใช้ร่วมกับแม่โครีดนมตัวอื่น

การผสมเทียมโค

ประวัติการผสมเทียมในประเทศไทย

การผสมเทียมในประเทศไทยเริ่มขึ้นโดย ในปี พ.ศ.2496 ศาสตรจารย์นีลล์ ลาเกอร์ ลอฟ ชาวสวีเดน ผู้เชี่ยวชาญองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้เดินทางมาสำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศไทยได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเพื่อทูลเก้าฯถวายโครงการผลิตโคนมลูกผสมด้วยวิธีการผสมเทียมในประเทศไทยเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมได้เองภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2497 กรมปศุสัตว์ได้ส่งนายสัตวแพทย์ทศพร สุทธิคำ และนายสัตวแพทย์อุทัย สาลิคุปต์ ไปศึกษาอบรมนานาชาติ ณ ราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับรัฐบาลสวีเดน ได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมวิชาการสืบพันธุ์และการผสมเทียมขึ้นเป็นรุ่นแรกเมื่อจบการศึกษากลับประเทศไทยได้เริ่มต้นก่อตั้งสถานีผสมเทียม เพื่อให้บริการผสมเทียมแก่ปศุสัตว์ของเกษตรกร และถ่ายทอดความรู้ด้านการผสมเทียมแก่นักวิชาการของกรมปศุสัตว์ ในปี พ.ศ.2499 กรมปศุสัตว์ได้เปิดสถานีผสมเทียมแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่วันที่ 9 กันยายนพ.ศ.2499 นายสัตวแพทย์ทศพร ได้ผสมเทียมให้แม่โคตัวแรก แม่โคตั้งท้องคลอดลูกเป็นลูกโคเพศเมีย ดังนั้นจึงถือว่าวันที่ 9 กันยายนของทุกๆ ปี เป็นวันกำเนิดงานผสมเทียมของประเทศไทย

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จัดตั้งในปีพ.ศ.2503 โดยสมาคมเกษตรกรประเทศเดนมาร์กและรัฐบาลเดนมาร์กร่วมน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ มีพิธีเปิดเป็นทางการในปี พ.ศ.2505 ต่อมารัฐบาลไทยรับโอนกิจการฟาร์มโคนมจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในปี พ.ศ.2514 มีกิจกรรมด้านส่งเสริมการเลี้ยงโคนม รวมถึงการให้บริการผสมเทียม การผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนม และการพิสูจน์พ่อพันธุ์โคนม

สำนักงานทหารพัฒนากองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการทหารสูงสุด(กรป.กลาง)ได้ปฏิบัติงานพัฒนาชนบทและปี พ.ศ.2511 จัดทำโครงการส่งเสริมขยายพันธุ์สัตว์ให้บริการผสมเทียมโคเนื้อและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อ

ในประเทศไทยได้ใช้เทคนิคการผสมเทียมในการขยายพันธุ์โคมานานเกือบ 50 ปี โดยกรมปศุสัตว์ได้นำเข้าน้ำเชื้อแช่แข็งจากต่างประเทศมาโดยตลอดโดยนำเข้าจากประเทศต่างๆ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น เป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้บริการผสมเทียมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคนม โคเนื้อในประเทศต่อมากรมปศุสัตว์ได้เริ่มเลี้ยงพ่อพันธุ์โคเพื่อการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งออกบริการเอง โดยได้นำเข้าพ่อพันธุ์โคจากต่างประเทศมารีดน้ำเชื้อและคัดเลือกพ่อพันธุ์โคที่เกิดในประเทศที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อพัฒนาสายพันธุ์มาผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งใช้ในประเทศไทย ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ผลิตน้ำเชื้อโคในประเทศไทยคือ กรมปศุสัตว์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนม โคเนื้อ และปศุสัตว์ชนิดอื่นๆ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนม กรป.กลาง (สำนักงานทหารพัฒนา กองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ) ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคเนื้อ นอกจากนี้สถาบันการศึกษาและฟาร์มเอกชนหลายแห่งได้ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งใช้เองและให้บริการเกษตรกรอยู่บ้างอย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญในประเทศไทยคือระบบข้อมูลเพื่อการจัดการฟาร์มและการปรับปรุงพันธุ์มีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงมากและใช้ระยะเวลานานในประเทศไทยหน่วยงานกรมปศุสัตว์ และ อ.ส.ค. ได้มีการทำงานด้านระบบฐานข้อมูลโคนม และได้นำผลวิเคราะห์ค่าการผสมพันธุ์ (Breeding index; BI) ออกเผยแพร่เพื่อให้เกษตรกรใช้ประกอบการเลือกใช้พ่อพันธุ์โคนมและโคเนื้อ

ข้อดีของการผสมเทียม (Advantages of artificial insemination)

การปรับเปลี่ยนจากการผสมจริงของโคในธรรมชาติมาใช้เทคโนโลยีการผสมเทียมในโคต่อเกษตรกรนั้นมีข้อจำกัดคือ การต้องมีการตรวจการเป็นสัดที่ดี และมีระบบการจัดการภายในฟาร์มที่ดีจึงจะทำให้การผสมเทียมประสบความสำเร็จอย่างไรก็ตามประโยชน์ที่ได้รับจากใช้การผสมเทียมในโคมีอยู่มากคือ

  • การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ที่ดีได้รวดเร็วในเวลาสั้น (Genetic gain) ประโยชน์ข้อนี้นับเป็นข้อดีที่สำคัญที่สุดของการผสมเทียม นอกจากนี้เทคนิคนี้ทำให้สามารถควบคุมโรคทางระบบการสืบพันธุ์ได้ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการใช้ผสมเทียมแทนการผสมตามธรรมชาติการที่จะใช้เทคนิคการผสมเทียมเพื่อกระจายพันธุ์ดี เกษตรกรจะเลือกใช้พ่อพันธุ์ที่มีข้อมูลการประเมินคุณภาพการถ่ายทอดพันธุกรรม ที่ประเมินจากฝูงโคขนาดใหญ่ในประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำการพิสูจน์พ่อพันธุ์ (การจัดเก็บข้อมูลผลผลิตลูกสาวจากพ่อตัวนั้นการประมวลวิเคราะห์ผลด้วยโปรแกรมเฉพาะ การคัดเลือกเพื่อปรับปรุงพันธุ์) ค่อนข้างสูงมากและใช้เวลานานเพราะต้องติดตามข้อมูลผลผลิตอย่างน้อยหนึ่งระยะให้นมของลูกสาว ดังนั้นประเทศที่มีการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งใช้จะต้องมีระบบข้อมูลที่ดีและมีระบบการประเมินคุณภาพพ่อพันธุ์หรือค่าการผสมพันธุ์โคทุกตัว ที่ใช้น้ำเชื้อบริการอยู่เป็นประจำ (ประเมินปีละ 1 – 2 ครั้ง) ในประเทศไทยกรมปศุสัตว์ และ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งและประเมินค่าการผสมพันธุ์โคนมในประเทศไทยส่วนโคเนื้อกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักที่ติดตามประเมินค่าการผสมพันธุ์โคเนื้อ
  • การใช้จ่ายเพื่อการผสมพันธุ์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Cost effectiveness) แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์ของการผสมเทียมโดยเฉพาะในด้านศักยภาพการถ่ายทอดพันธุกรรมหรือผสมเทียมเพื่อปรับปรุงพันธุ์ได้ดีขึ้น แต่ประโยชน์ที่เจ้าของฟาร์มคำนึงถึงการนำเอาการผสมเทียมมาใช้แทนการผสมตามธรรมชาติที่สำคัญคือการลดค่าใช้จ่ายการลดต้นทุนการผลิต ด้วยข้อดีน้ำทำให้การผสมเทียมในโคได้รับการยอมรับและแพร่หลายใช้ทั่วโลก การซื้อพ่อโคพันธุ์ดีมาเลี้ยงเพื่อใช้ผสมจริงมีข้อเสียมากทั้งค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูค่าพันธุ์หรือค่าตัวพ่อโค การควบคุมโรคทางการสืบพันธุ์ในฝูงพันธุกรรมของลูกที่เกิดที่ไม่ชัดเจนว่าพ่อที่ผสมเป็นตัวใดกรณีที่มีพ่อหลายตัวปล่อยคุมฝูง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของพ่อโคต่อจำนวนแม่โคในฝูง จะต้องมีการเฝ้าระวังโดยตรวจสอบอัตราการผสมติดอย่างไรก็ตามปัญหาพ่อโคที่ไม่สมบูรณ์พันธุ์หรือมีปัญหาการผสม (infertile or subfertile) มักทราบหลังจากใช้คุมฝูงไปนานหลายเดือนแล้ว ซึ่งจะนำความสูญเสียต่อผลผลิตของฟาร์มในปีนั้นๆ การตรวจพ่อพันธุ์ที่มีปัญหาทั้งระบบสืบพันธุ์และคุณภาพน้ำเชื้อสามารถทำได้ แต่เจ้าของฟาร์มต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บพ่อโคที่ใช้งานไม่ได้ ซึ่งค่าตัวพ่อโคพันธุ์ดีแต่ละตัวสูงมาก ทำให้เมื่อประเมินความคุ้มทุนเทียบกับการซื้อน้ำเชื้อแช่แข็งที่ผ่านการพิสูจน์พันธุ์แล้ว (มี breeding index และการตรวจรับรองการปลอดโรคที่กำหนด) จะคุ้มทุนมากกว่าน้ำนมและองค์ประกอบดีแล้วแต่มีลักษณะเต้านมไม่สวย เกษตรกรอาจเลือกใช้พ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดลักษณะเต้านมที่แข็งแรงมาผสมแม่ตัวนี้ เพื่อให้ได้ลูกสาวที่คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำนมดีและโครงสร้างเต้านมแข็งแรง ไม่หย่อนยานเมื่ออายุมาก เพราะลักษณะดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์ต่อการเป็นโรคเต้านมอักเสบและแม่โคมีโอกาสเหยียบหัวนมตัวเองมากขึ้นหรือเกษตรกรอาจต้องการพ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดลักษณะขาที่แข็งแรงหรือพ่อโคที่ถ่ายทอดการให้น้ำนมที่มีไขมันสูงตามเกณฑ์มาตรฐานราคาน้ำนมดิบในประเทศนั้น ด้วยความต้องการที่หลากหลายเพื่อปรับปรุงลักษณะที่ต้องการในลูกรุ่งต่อๆ ไป ทำให้การเลือกใช้น้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อพันธุ์ที่พิสูจน์แล้วหลายๆ ตัวมีความสะดวกมากกว่าการซื้อพ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดลักษณะที่ต้องการในจำนวนจำกัดมาเลี้ยงไว้เพื่อผสมพันธุ์ในฟาร์ม

ข้อเสียของการผสมเทียม (Disadvantages of artificial insemination)
เทคโนโลยีการสืบพันธุ์โดยใช้เทคนิคการผสมเทียมมีคุณประโยชน์มากมายแต่ก็มีข้อเสียที่ควรตระหนักและต้องระมัดระวังเสมอสำหรับผู้ใช้คือ

  • ขบวนการการรีดน้ำเชื้อ การผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง และเทนนิคการผสมเทียม ไม่ว่าจะเป็นการรีดเก็บน้ำเชื้อ การตรวจคุณภาพการแช่แข็ง การเก็บรักษา การจัดส่งน้ำเชื้อแช่แข็ง และการผสมเทียมต้องทำอย่างถูกต้องระมัดระวัง นอกจากนี้ต้องมั่นใจว่า โรคทางการสืบพันธุ์ เช่นโรคแท้งติดต่อ โรคทริโคโมนิเอซิส โรคแคมไพโรแบคเทอริโอซิส และโรคอื่นๆ จะไม่แพร่โดยน้ำเชื้อจากพ่อโคที่เป็นโรค หรือติดต่อจากอุปกรณ์ผสมเทียมที่นำเชื้อโรคจากแม่โคที่เป็นโรคไปยังโคตัวอื่นๆสถานีพ่อพันธุ์จะต้องปลอดโรคเหล่านี้ (โรคที่ถ่ายทอดทางการสืบพันธุ์และถ่ายทอดผ่านทางน้ำเชื้อแช่แข็งได้) หากน้ำเชื้อถูกเก็บรักษาหรือมีขบวนการแช่แข็งที่ไม่เหมาะสมแล้ว จะมีผลให้คุณภาพน้ำเชื้อต่ำ ส่งผลให้อัตราการผสมเทียมติดต่ำ นอกจากปัจจัยการตรวจการเป็ดสัดที่ถูกต้องแล้ว การผสมเทียมในเวลาเหมาะสมเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่ออัตราการผสมติดการลงบันทึกข้อมูลการผสมพันธุ์ที่สมบูรณ์ถูกต้องจะต้องทำเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพการผสมเทียม ผู้ทำการผสมเทียม (inseminators) หากทำการผสมเทียมโดยไม่สะอาดไม่ระมัดระวังแล้วจะเป็นทางแพร่โรคจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกฟาร์มหนึ่งได้ หรือเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ระบบสืบพันธุ์แม่โคได้
  • โรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ การผสมเทียมเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้มีการขยายพันธุ์ที่ดีได้รวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นในทำนองเดียวกันการผสมเทียมเป็นทางแพร่พันธุกรรมที่มีความผิดปกติได้หากไม่ตรวจพบได้ก่อนการนำน้ำเชื้อออกบริการโรคที่มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ เช่น ลักษณะโคที่ไม่ดี (poor conformation) โดยเฉพาะขาไม่แข็งแรง โรคปัญหาของสันหลัง (spastic syndrome) การมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ การไม่มีความต้องการผสมพันธุ์หรือไม่มีกำหนัด (lack of libido) โรคถุงน้ำในรังไข่ (cystic ovaries) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าโรคเต้านมอักเสบสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้เช่นกันโรคที่แฝงมากับยีนด้อยที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาทำการตรวจพ่อพันธุ์ทุกตัวก่อนการนำน้ำเชื้อไปใช้ มีการตรวจหลายโรค เช่น โรคแบลด (bovine leukocyte adhesion deficiency: BLAD) หากพ่อโคปลอดโรคนี้จะมีรหัส *TL ที่ข้อมูลพิสูจน์ประจำตัวพ่อพันธุ์(breeding index) โรคดัมปส์ (deficiency of uridine monophosphate syntheses: DUMPS) หากพ่อโคปลอดโรคนี้จะมีรหัส *TD ที่ข้อมูลพิสูจน์ประจำตัวพ่อพันธุ์ โรคมูลฟุต (mule-foot หรือ syndcyylism; MF) หากพ่อโคปลอดโรคนี้จะมีรหัส *TM ที่ข้อมูลพิสูจน์ประจำตัวพ่อพันธุ์ ยังมีปัญหาจากยีนด้อยแอบแฝงอื่นๆ อีกหลายโรคที่ผู้สั่งซื้อน้ำเชื้อแช่แข็งจากต่างประเทศต้องศึกษา เพื่อการเลือกใช้พ่อที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ไม่เป็นตัวกระจายโรคและปัญหาแอบแฝงต่างๆ นอกจากนี้ในประเทศที่มีระบบข้อมูลประเมินค่าการผสมพันธุ์ของพ่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ (sire evaluation) จะมีการประเมินการถ่ายทอดลักษณะรูปร่าง (type traits) เช่น ลักษณะเต้านม ขา เท้า การให้ผลผลิตน้ำนมและองค์ประกอบหลักของน้ำนม (production traits) เช่น ปริมาณโปรตีนและไขมันในน้ำนม หน่วยงานที่ผลิตน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคเพื่อจำหน่ายจะต้องมีการตรวจรับรองการปลอดโรค และค่าการถ่ายทอดพันธุกรรมของพ่อโคเหล่านี้ เช่น น้ำเชื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรปบางประเทศ จะระบุผลตรวจโรคทางพันธุกรรม ในข้อมูลค่าการผสมพันธุ์ประจำตัวพ่อพันธุ์ (breeding index)
  • ผลเสียและข้อจำกัดอื่นๆ หากทำการผสมเทียมในสัตว์ตั้งท้องจะมีผลทำให้แท้งลูกได้ ดังนั้นผู้ผสมเทียมต้องตรวจระบบสืบพันธุ์และประวัติการผสมให้ถูกต้องก่อนการผสมเทียมทุกครั้งการบริการผสมเทียมจากองค์กรของรัฐอาจทำได้ไม่ตรงเวลาและไม่ทำงานทุกวันทำให้โคอาจไม่ได้รับการผสมเทียมในวันและเวลาที่เหมาะสม เกษตรกรบางฟาร์มทำการผสมเทียมเองโดยได้รับการฝึกอบรมจากกรมปศุสัตว์และสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยให้ทำการผสมเทียมได้ถูกต้องและตรงเวลาที่เหมาะสมกับการเป็นสัดได้ดีขึ้นอกจากนี้ความเสี่ยงของการใช้พ่อพันธุ์ตัวเดียวผสมในฝูงคือจะเป็นตัวนำความผิดปกติที่ตรวจไม่พบเมื่อเป็นโคหนุ่มแต่พบเมื่อพ่อตัวนี้โตแล้วซึ่งเวลานั้นลูกที่เกิดจากพ่อตัวนี้มีจำนวนมากในฟาร์มและแสดงความผิดปกติหรือแฝงความผิดปกติอยู่ในลูกทุกตัวแล้ว ในสถานีพ่อพันธุ์มีขบวนการพิสูจน์พ่อพันธุ์ จากข้อมูลการให้ผลผลิตและลักษณะเฉพาะพันธุ์ในลูกสาว ทำให้พบลักษณะที่ไม่ต้องการต่างๆ ก่อนการนำน้ำเชื้อออกใช้ในจำนวนมากแต่อย่างไรก็ตามหากความผิดปกติไม่สามารถตรวจพบในขบวนการพิสูจน์พ่อพันธุ์ก่อนการนำน้ำเชื้อออกบริการการผสมเทียมก็จะเป็นการกระจายความผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางกว่าการผสมจริงเช่นกัน จะเห็นว่า “การผสมเทียมมีคุณอนันต์ แต่หากใช้อย่างไม่รอบคอบก็นำโทษมหันต์มาให้”



การผสมเทียม

การผสมเทียม หมายถึงการรีดน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์แล้วนำไปฉีดเข้าในอวัยวะของสัตว์ตัวเมียนั้น แสดงอาการของการเป็นสัดแล้วทำให้เกิดการตั้งท้องแล้วคลอดออกมาตามปกติ



 


 
ประโยชน์ของการผสมเทียม
  1. ทำให้ประหยัดพ่อพันธุ์เมื่อรีดเก็บน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์ได้แต่ละครั้ง สามารถนำมาละลายน้ำเชื้อ แล้วแบ่งใช้ผสมกับสัตว์ตัวเมียได้จำนวนมาก
  2. สามารถผสมพันธุ์สัตว์ที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กต่างกันได้โดยไม่มีอันตรายจากการขึ้นทับของพ่อพันธุ์
  3. ไม่ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงพ่อพันธุ์
  4. ตัดปัญหาในเรื่องขนส่งโคไปผสม เพราะสามารถนำน้ำเชื้อไปผสมได้ไกล ๆ
  5. บังคับสัตว์ให้ตกลูกได้ตามฟดูกาล คือเลือกระยะเวลาผสมให้ตกลูกตามระยะที่ต้องการ
  6. แก้ปัญหาการผสมติดยาก เช่น กรณีปากมดลูกกดหรือตีบช่องคลอดผิดปกติ เป็นต้น
  7. ป้องกันโรคติดต่อและโรคระบาด เพราะใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ปราศจากโรคและเครื่องมือใช้ในการผสม ได้รับการฆ่าเชื้อโรคเป็นอย่างดีและใช้ผสมเฉพาะตัว
  8. ย่นระยะเวลาการพิสูจน์พ่อพันธุ์ เพราะผสมได้จำนวนมากในระยะสั้น
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม
โคตัวเมียที่แสดงอาการเป็นสัดดังกล่าวควรจะได้รับการผสมเทียมในระยะเวลาช่วงกลางของการเป็นสัด หรือใกล้ระยะที่จะหมดการเป็นสัด (อาจจะหมดการเป็นสัดไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง ก็ได้หรือเมื่อโคเมีย ตัวนั้นยืนนิ่งให้ตัวอื่นขึ้นขี่ซึ่งใช้เป็นหลักในการผสมพันธุ์) โดยทั่ว ๆ ไป โคเมียจะมีระยะเป็นสัดประมาณ 18 ช.ม. แล้วต่อมาอีก 14 ช.ม. จึงจะมีไข่ตกเพื่อรอรับการผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อพ่อโค จึงเห็นสมควรที่ต้อง เลือกเวลาที่เหมาะสม ในการดำเนินการเรื่องของรับบริการผสมเทียมดังมีหลักการที่จะใช้ในการปฏิบัติ งานผสมเทียมคือ
  1. เมื่อโคเมียตัวใดแสดงอาการเป็นสัดในตอนรุ่งเช้าของวันใดวันหนึ่งควรที่จะได้รับการผสมเทียมในวัน เวลาเดียวกัน (ก่อน 16.30 น.) ฉะนั้นพอรุ่งเช้าของแต่ละวันเจ้าของสัตว์ควรจะได้ไปแจ้งและบอกเวลา (ประมาณ) ที่ท่านได้เห็นสัตว์ของท่านแสดงอาการเป็นสัด
  2. ถ้าโคตัวเมียใดแสดงอาการเป็นสัดในตอนบ่ายของวันใดวันหนึ่งควรที่จะได้รับการผสมเทียมตอนเช้า หรือก่อนเที่ยงของวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นเจ้าของสัตว์เมื่อพบว่าสัตว์แสดงอาการเป็นสัดในตอนบ่ายหรือตอนเย็น ท่านควรจะไปแจ้งและบอกเวลาของการเป็นสัด (ประมาณ) ในรุ่งเช้าของวันต่อไปก็ได้
ถ้าท่านได้ศึกษาและรู้จักสังเกตการแสดงอาการเป็นสัดว่าอาการเป็นอย่างไรและหาระยะเวลาที่จะผสม เทียมให้พอเหมาะแล้ว จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผสมเทียมติดยากหรือผสมไม่ค่อยติดในโคตัวเมีย ของท่านได้ทางหนึ่ง และจะทำให้เป็นประโยชน์ในด้านการเพิ่มจำนวนและปริมาณน้ำนมในกิจการโคนม ของท่านยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรที่จะเรียกช่วงเวลาอันสำคัญนี้ว่า "นาทีทองในโคนมตัวเมีย"



จะรู้ได้อย่างไรว่าโคตั้งท้องหรือไม่
เมื่อโคนางได้รับการผสมไปแล้วประมาณ 21 วัน หากโคไม่กลับมาแสดงอาการเป็นสัดอีกก็อาจคาดได้ว่า ผสมติดหรือโคตัวนั้นเริ่มตั้งท้องแล้วหรือเพื่อให้รู้แน่ชัดยิ่งขึ้นภายหลังจากการผสมโคนางแล้ว 50 วันขึ้นไป อาจติดต่อสัตวแพทย์ หรือบุคคลผู้มีความชำนาญในการตรวจท้องแม่โค (โดยวิธีล้วงเข้าไปคลำลูกโคทางทวาร ของแม่โค) มาทำการตรวจท้องแม่โคก็จะทราบได้แน่ชัดยิ่งขึ้น
ข้อสังเกต ในกรณีโคสาวจะสังเกตุได้จากการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น กินจุขึ้นความจุของลำตัวโดยเฉพาะส่วนท้อง ซี่โครง จะกางออกกว้างขึ้น ขนเป็นมันและไม่เป็นสัดอีก

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การป้องกันโรคโคนม

         โรคเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำความเสียหายให้แก่ผู้เลี้ยงโคนมไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งถ้า เกิดขึ้นกับฟาร์มใด อาจทำให้ถึงกับต้องเลิกล้มกิจการได้ การป้องกันโรคโคนมควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
  • เลี้ยงแต่โคที่แข็งแรงสมบูรณ์และปลอดจากโรค ไม่ควรเลี้ยงโคที่อ่อนแอโคที่เป็นเรื้อรังรักษาไม่หายขาด โรคทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคไส้เลื่อน, โรคติดต่อร้ายแรง เช่นโรคแท้งติดต่อหรือวัณโรค เป็นต้น
  • ให้อาหารที่มีคุณภาพดีและมีจำนวนเพียงพอ ถ้าให้อาหารไม่ถูกต้องเพียงพอ หรือให้อาหารเสื่อมคุณภาพ หรือมีสิ่งปลอมปนอาจทำให้โคเป็นโรคไข้น้ำนม, โรคขาดอาหาร รวมทั้งทำให้อ่อนแอเกิดโรคอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเกษตรกรควรซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และระวังอาหารที่เป็นพิษ เช่นมีเชื้อรา พืชที่พ่นยาฆ่า แมลง เป็นต้น
  • จัดการเลี้ยงดูและป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงให้เหมาะสม สำหรับข้อนี้เป็นวิธีการลงมือปฏิบัติที่ค่อนข้าง สับสน เพื่อให้เข้าใจง่าย สะดวกแก่การปฏิบัติ จึงขอแยกแยะออกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
  1. คอกคลอดควรได้รับการทำความสะอาด และใช้ยาฆ่าเชื้อพ่นหรือราดทิ้งไว้ 2-3 อาทิตย์ก่อนนำแม่โค เข้าคลอด
  2. ลูกโคที่เกิดใหม่ต้องล้วงเอาเยือกเมือกที่อยู่ในจมูกปากออกให้หมดเช็ดตัวลูกโคให้แห้ง
  3. สายสะดือลูกโคที่เกิดใหม่ต้องใส่ทิงเจอร์ไอโอดีนให้โชกและใส่ยากันแมลงวันวางไข่ทุกวันจนกว่าสาย สะดือจะแห้ง
  4. ให้ลูกโคกินนมน้ำเหลืองโดยเร็วถ้าเป็นไปได้ควรให้กินภายใน 15 นาทีหลังคลอด
  5. ทำความสะอาดคอกลูกโค เช่นเดียวกันคอกคลอดก่อนนำลูกโคเข้าไปเลี้ยง
  6. ควรเลี้ยงลูกโคในคอกเดี่ยวเฉพาะตัว
  7. เครื่องมือเครื่องใช้เช่น ถังนมที่ใช้เลี้ยงลูกโคไม่ควรปะปนกัน
  8. ให้ลูกโคกินนมไม่เกิน 10% ของน้ำหนักตัว แบ่งออกเป็น 2 ครั้งต่อวัน
  9. หัดให้ลูกโคกินอาหารและหญ้าโดยเร็ว (เมื่อลูกโคอายุได้ประมาณ 1 อาทิตย์) อาหารที่เหลือต้องกวาดทิ้ง ทุกวัน น้ำสะอาดควรมีให้กินตลอดเวลา
  10. ลูกโคต้องตัวแห้งเสมอ วัสดุที่ใช้รองนอนต้องเปลี่ยนทุกวัน
  11. แยกลูกโคที่อายุต่างกันให้อยู่ห่างกัน
  12. ถ่ายพยาธิเมื่อลูกโคอายุ 3 เดือน และถ่ายซ้ำอีกปีละ 1-2 ครั้งหรือตามความเหมาะสม
  13. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแท้งติดต่อสะเตรน 19 ให้แก่ลูกโคเพศเมีย เมื่อลูกโคอายุ 3-8 เดือน
  14. เมื่อลูกโคหย่านมต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงดังนี้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าต้องฉีดให้ครบ 3 ชนิด (เอ, เอเชียวันและโอ) และฉีดซ้ำทุก 6 เดือน
  • ฉีดวัคซีนโรคเฮโมรายิกเซพติซิเมีย (โรคคอบวม) และฉีดซ้ำทุก 6 เดือน
  • ฉีดวัดซีนโรคแอนแทรกซ์ (โรคกาลี) และฉีดซ้ำทุกปี
15. พ่นหรืออาบยาฆ่าเห็บทุก 15 วัน หรือตามความเหมาะสม เช่น อาจจะอาบหรือพ่นทุก 1 เดือนหรือ นานกว่านี้ก็ได้
16. แม่โคที่แสดงอาหารแบ่งนานเกิน 3 ชั่วโมงแล้วไม่สามารถคลอดลูกได้ หรือแม่โคที่คลอดลูกแล้วมีรก ค้างเกิน 12 ชม. ควรตามสัตวแพทย์
17. จัดการป้องกันโรคเต้านมอักเสบโดยเคร่งครัดดังนี้
บริเวณคอกต้องแห้ง ไม่มีที่ชื้นแฉอะแฉะ เป็นโคลนตมไม่มีวัตถุแหลมคม เช่นรั้ว ลวดหนาม ตาปู
  • รีดนมตามลำดับโดยรีดโคสาวก่อน แล้วรีดโคที่มีอายุมากขึ้น ส่วนโคที่เป็นโรคให้รีดหลังสุด
  • ก่อนรีดต้องเช็ดเต้านมด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำคลอรีน ผ้าที่ใช้เช็ดเต้านมควรใช้เฉพาะตัวไม่ปะปนกัน